บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีการประเมินความเสี่ยงต่อเกิดเบาหวาน จากแบบสอบถามและการวัดดัชนีความอ้วน ใช้ข้อมูลการศึกษาทางระบาดวิทยาในกลุ่มพนักงานไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (EGAT study) ในการวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเบาหวานและการให้คะแนนตามปัจจัยเสี่ยงที่มีความสำคัญต่อการเกิดโรค การวิเคราะห์ทางสถิติด้วย logistic regression และใช้สัมประสิทธิ์ของปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยสำคัญมาพัฒนาคะแนนความเสี่ยง และทดสอบความสามารถในการทำนายของคะแนนความเสี่ยงดังกล่าวด้วยการวิเคราะห์ receiver operating characteristic curve (ROC) และการคำนวณพื้นที่โค้ง (Area under curve, AUC) ผลการศึกษากลุ่มศึกษาพนักงานเมื่อเริ่มต้นการศึกษาในปี 2548 ผู้ไม่มีภาวะเบาหวาน 2,677 คน จากการติดตามเป็นเวลา 12 ปีพบว่ามีผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่เกิดขึ้น 361 คน การวิเคราะห์พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญ คือ อายุ เพศ โรคความดันเลือดสูง ประวัติเบาหวานของคนใดคนหนึ่งในครอบครัว ได้แก่ พ่อ แม่ พี่ หรือน้อง ดัชนีความอ้วน BMI มาก และอ้วนลงพุง โดยสรุปการศึกษานี้ได้พัฒนาเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานในอนาคตที่อาศัยข้อมูลประวัติจากแบบสอบถามและการวัดดัชนีความอ้วน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถเก็บได้จากการสัมภาษณ์และการตรวจร่างกาย ซึ่งสามารถทำได้ในการสำรวจภาวะทางสุขภาพทั่วไป โดยไม่ต้องอาศัยการตรวจเลือด ได้ผลอย่างมีความถูกต้องในเกณฑ์ที่ดี จึงเป็นเครื่องมือที่ง่ายเหมาะกับการใช้ในการสถานบริการระดับปฐมภูมิ รวมทั้งการประเมินด้วยตนเองของประชาชน นอกจากนี้ในการสำรวจภาวะสุขภาพของประชาชนวัยกลางคนทั่วไปควรมีการถามประวัติที่เกี่ยวข้องและมีการวัด BMI และเส้นรอบวงเอวเพื่อการประเมินความเสี่ยงต่อเบาหวานต่อไป