บทคัดย่อ
จากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายด้านสุขภาพในนโยบายข้อที่ 2 พัฒนายุทธศาสตร์และกลไกจำเพาะด้านสุขภาพเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของประเทศในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนในภูมิภาคนี้ ศบ.สต. ได้กำหนดกรอบแนวทางในการดำเนินงาน โดยได้กำหนดประเด็นการดำเนินงานไว้ 5 ประเด็น คือ สร้างกลไกจำเพาะในการสนับสนุนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์, ยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัย, ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพและความเข้มแข็งชุมชน, ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต และยุทธศาสตร์ด้านการเยียวยาด้านสุขภาพสำหรับผู้ป่วย ผู้พิการ และประชาชน และเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นในระยะเวลา 1 ปี (ปีงบประมาณ 2550) ภายใต้แนวทางการดำเนินงาน “บริการดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด”สำหรับในปีงบประมาณ 2551 เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนางานด้านสุขภาพ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย และประชาชนสามารถเข้าถึงบริการมากขึ้น ศบ.สต. ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขเขต 18, 19 ผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และศูนย์วิชาการจากกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมบูรณาการกระบวนการคิดและดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาสุขภาพในพื้นที่ มีความเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีประเด็นปัญหาที่สำคัญ ซึ่งได้จากการวิเคราะห์ร่วมกัน คือ ปัญหาอนามัยแม่และเด็ก ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ปัญหาโรคติดต่อ ได้แก่ มาลาเรีย วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ รวมทั้งปัญหาและภาวะคุกคามที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ได้กำหนดเป็นวาระการแก้ไขปัญหาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประชาชนมีสุขภาพดี ภายใต้การพัฒนาระบบสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ” โดยมีพันธกิจ “การบูรณาการการพัฒนาระบบสุขภาพภายใต้ ภาวะวิกฤตให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน” โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์และตัวชี้วัดการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้ยุทธศาสตร์การบูรณาการการดำเนินงานพัฒนาระบบสุขภาพภาครัฐให้เป็นเอกภาพยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมโดยใช้วิถีชุมชนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสุขภาพภายใต้ภาวะวิกฤตผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รอบ 12 เดือน(มกราคม–ธันวาคม) 2550 สรุปได้ดังนี้ 1. การพัฒนาระบบความปลอดภัย เป็นการเพิ่มทักษะเจ้าหน้าที่ให้พร้อมรับสถานการณ์ในรูปแบบต่างๆ 2. การพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการด้านสุขภาพ ได้ดำเนินการพัฒนาระบบจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรงในพื้นที่ เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลการบาดเจ็บจากความรุนแรง อันจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานระดับนโยบาย และการแจ้งเตือนชุมชนในการร่วมกันเฝ้าระวังเหตุ รวมทั้งการปรับระบบบริการสาธารณสุขให้พร้อมรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 3. การพัฒนาระบบบริการฉุกเฉินและการส่งต่อ ได้มีการตรวจสอบความพร้อมของสถานพยาบาลที่เป็นหน่วยรับส่งต่อทุกวัน โดยสามารถจัดหาเตียงรับผู้ป่วยกรณีส่งต่อตามปกติไม่ได้ ภายใน 1 ชั่วโมง โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไว้สำหรับประสานการส่งต่อแก่ ทุกโรงพยาบาล 4. การดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้มีการจัดจ้างนักจิตวิทยา แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในเรื่องการดูแลเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ การพยาบาลด้านจิตใจในภาวะวิกฤต 5.การพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น 6. การแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เร่งดำเนินการในเรื่องปัญหาอนามัยแม่และเด็ก ซึ่งยังเป็นปัญหาสำคัญ ปัญหาภาวะทุพโภชนาการและปัญหาโรคติดต่อ ได้แก่ โรคมาลาเรีย วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ 7.การแก้ไขปัญหาด้านการบริหารจัดการ ได้แก่ ด้านระบบการเงิน การคลัง งบประมาณ โดยเสนอของบประมาณเพิ่มเติมเพื่อนำมาแก้ปัญหาสำคัญในพื้นที่ ด้านระบบบริหารทรัพยากรบุคคลและการสร้างแรงจูงใจ โดยมีศัลยแพทย์หมุนเวียนไปช่วยปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านระบบครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง ได้รับพระราชทานเครื่องมือแพทย์ จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และเงินทุนการกุศลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และอื่น ๆ 8. อื่นๆ ได้แก่ โครงการจิตอาสา โครงการระดมน้ำใจสู่สาธารณสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ การพัฒนาระบบงานนิติเวชและปัญหาการชันสูตรพลิกศพในสถานการณ์ไฟใต้ การลงเยี่ยมพบปะพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายสุขภาพ คณะที่ 2 การจัดการแข่งขันมหกรรม ฟุตซอลรวมพลัง TO BE NUMBER ONE 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2550 และโครงการส่งเสริมการดูแลสุขภาพอนามัยของผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2550