บทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายสุขภาพแห่งชาติการศึกษานี้มุ่งเพื่อวิจัยและพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายสุขภาพแห่งชาติ (National Health Account - NHA) โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1.กำหนดคำนิยามรายจ่ายสุขภาพอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย 2.พัฒนาคู่มือ วิธีการเก็บข้อมูล การประมาณการรายจ่ายสุขภาพจากแหล่งการคลังเริ่มต้น (ultimate source of finance) ไปสู่ผู้จ่ายเงินแทน (financing agencies) 3.พัฒนาคู่มือและเกณฑ์การกระจายรายจ่ายจากผู้แทนไปยังสถานพยาบาลและกิจกรรม ต่าง ๆ ในกรณีที่รายงานปฐมภูมิของผู้จ่ายเงินไม่ได้แจกแจงรายละเอียด 4.ศึกษารายจ่ายสุขภาพโดยใช้ข้อมูลจริงปีงบประมาณและปี พ.ศ.2537 โดยดำเนินการทั้ง 2 ระดับ คือ จากการคลังเริ่มต้น (ultimate source) ไปยังผู้จ่ายเงิน (financing agencies) และจากผู้จ่ายเงินไปยังประเภทของสถานพยาบาลและประเภทรายจ่าย การศึกษาหนึ่งปีงบประมาณเพื่อเรียนรู้ฐานข้อมูล วิธีการจัดเก็บ การแจกแจงรายจ่ายสุขภาพ ผลการศึกษา นิยามความคิดรวบยอดรายจ่ายสุขภาพ หมายถึง รายจ่ายสำหรับสินค้าและบริการที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการมีสุขภาพ ที่ดีขึ้น กำหนดแหล่งการคลังภาคสาธารณะที่มีที่มาของเงินเพื่อสุขภาพจากภาษีทั่วไป และเบี้ยประกันหรือเงินสมทบสำหรับการประกันภาคบังคับและแหล่งการคลังภาคเอกชน ได้แก่ ครัวเรือน นายจ้างและเงินบริจาครวมเงินช่วยจากต่างประเทศ กำหนดแหล่งการคลังเริ่มต้น (ultimate source of finance) 5 แหล่ง กำหนดให้มีผู้จ่ายเงิน (financing agencies) ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินโดยตรง 12 แหล่ง การศึกษาในปี พ.ศ.2537 พบว่า รายจ่ายสุขภาพทั้งหมด 128,305 ล้านบาท โดยไม่รวมจ่ายสำหรับการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขนั้น เป็นรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคร้อยละ 84.1 รายจ่ายเพื่อการสะสมทุนร้อยละ 15.9 ในรายจ่ายสุขภาพนี้เป็นการจ่ายจากแหล่งการคลังภาครัฐร้อยละ 48.8 และจากแหล่งการคลังภาคเอกชนร้อยละ 51.2 ในรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคทั้งหมด 107,867 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GPS)เมื่อเปรียบเทียบกับรายจ่ายสุขภาพทั้งหมดเฉพาะรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ประมาณโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี 2537 เท่ากับ 180,516 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 5.01 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างกันถึงร้อยละ 2.01 ของ GDP หรือเท่ากับความคลาดเคลื่อนในวงเงินสูงถึง 72,648.42 ล้านบาท