บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยในโครงการการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังสิ่งคุกคามทางด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมเป็นการศึกษาเริ่มแรกในโครงการศึกษาวิจัยระยะยาวเรื่อง โครงการการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังทางด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นโครงการในลักษณะการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) วัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้คือ เพื่อพัฒนารูปแบบการเฝ้าระวังสิ่งคุกคามทางด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมเพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวกับสถานการณ์ทางด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพิจารณาถึงฐานข้อมูลที่สำคัญในระดับจังหวัดเพื่อนำข้อมูลที่ได้โดยเฉพาะข้อมูลสิ่งคุกคาม นำไปใช้ในการวางระบบการเฝ้าระวังต่อไป และนำไปใช้ในการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของสถานการณ์ปัญหาในระดับพื้นที่ วิธีการศึกษาจะเน้นการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่และทำการศึกษาในพื้นที่ที่คัดเลือก 6 จังหวัด คือ จังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พระนครศรีอยุธยา สระแก้ว อำนาจเจริญ และยะลา ขั้นตอนการศึกษาประกอบด้วย การเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด โดยเน้นข้อมูลทุติยภูมิที่มีการจัดเก็บอยู่แล้ว หลังจากนั้นทำการสำรวจหาสถานการณ์ข้อมูลสิ่งคุกคามภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม โดยภาคเกษตรกรรมทำการสำรวจโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และใช้สมุดบันทึกสุขภาพและความเสี่ยงที่ทางสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมกำลังดำเนินการอยู่เป็นเครื่องมือ กลุ่มตัวอย่างในแต่ละจังหวัดมีจำนวน 150 คน โดยการสุ่มคัดเลือก 3 อำเภอ แต่ละอำเภอคัดเลือก 1 หมู่บ้าน และใน 1 หมู่บ้าน จะทำการสำรวจ 50 หลังคาเรือน โดยสัมภาษณ์เกษตรกร 1 คน ในแต่ละหลังคาเรือนแล้วนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์และแปลผล สำหรับภาคอุตสาหกรรมนั้นจะเน้นกลุ่มสถานประกอบการที่อยู่ในระบบ คือมีการลงทะเบียนต่ออุตสาหกรรมจังหวัดโดยศึกษาถึงประเภทจำนวนและลักษณะของสถานประกอบการ หลังจากนั้นจะทำการสำรวจสถานประกอบการในแต่ละประเภท เพื่อศึกษาถึงข้อมูลพื้นฐาน กระบวนการทำงาน และข้อมูลสิ่งคุกคาม โดยคัดเลือกสำรวจสถานประกอบการประเภทละ 1 โรงงาน (เน้นประเภทที่มีจำนวนมากที่สุด 10 อันดับแรกก่อน) จากนั้นนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ และจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ เช่น ข้อมูลการประสบอันตรายจากสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน นำมาพิจารณาวิเคราะห์จัดลำดับความสำคัญของปัญหา โดยจำแนกตามประเภทของสถานประกอบการ ซึ่งจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดคือ จำนวนความรุนแรง ความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหา และความสนใจของพื้นที่ รวมทั้งลักษณะของอันตรายของสิ่งคุกคาม หลังจากนั้นนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาทำการวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อวางเป็นระบบในการเฝ้าระวังต่อไป จากผลการศึกษาพบว่า จาก 6 จังหวัดที่ทำการศึกษา มีประชากรวัยทำงานประมาณ 3 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด โดยมีการประกอบอาชีพทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และอื่นๆ สัดส่วนของประชากรส่วนใหญ่จะทำงานในภาคเกษตรกรรม ตัวอย่างเช่น ในจังหวัดน่าน (85%) หรือจังหวัดอุตรดิตถ์ (70%) ประเภทของการเพาะปลูกที่สำคัญคือ ข้าว พืชไร่ และสวนผลไม้ สำหรับจังหวัดยะลา การเพาะปลูกอันดับแรก คือการทำสวนยางพารา ส่วนภาคอุตสาหกรรมใน 6 จังหวัดนั้นส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร โดยมีลักษณะหรือประเภทของกิจการขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์การเกษตรในพื้นที่ ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยาถือเป็นจังหวัดที่มีจำนวนสถานประกอบการ และผู้ที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมมากที่สุดในกลุ่มจังหวัดที่ศึกษา สำหรับข้อมูลทางด้านบุคลากรสาธารณสุขที่จะมารองรับงานทางด้านนี้พบว่า ในทุกจังหวัดมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะแพทย์ทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษา ประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกร ข้อมูลการทำงาน ข้อมูลสถานะทางสุขภาพ ข้อมูลสิ่งคุกคามความเสี่ยงที่สำคัญในงานเพาะปลูก รวมทั้งอาการผิดปกติต่างๆ และผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดขึ้นกับตัวเกษตรกรเอง ซึ่งทำให้เห็นสถานการณ์ปัญหาทางด้านอาชีวอนามัยของเกษตรกรได้อย่างชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวเป็นการประเมินโดยตัวของเกษตรกรเอง จากผลการศึกษาภาคเกษตรกรรมที่ได้แสดงให้เห็นว่า สิ่งคุกคามสุขภาพที่สำคัญอันดับแรกๆ ของเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกในพื้นที่ที่ศึกษา ได้แก่ การทำงานกลางแดด ลักษณะท่าทางการทำงานที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ปัญหาทางด้านอุบัติเหตุและความปลอดภัยในการทำงาน และปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และพฤติกรรมการใช้สารเคมีที่ไม่เหมาะสม จากผลการศึกษาภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ศึกษา พบว่า สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงและจัดว่ามีความสำคัญอันดับแรก ได้แก่ โรงงานผลิตพลุ (จังหวัดน่าน) อู่เคาะพ่นสี/ซ่อมเครื่องยนต์ (จังหวัดอุตรดิตถ์) โรงงานผลิตรองเท้า (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) โรงเลื่อยไม้ (จังหวัดสระแก้ว) โรงสีข้าว (จังหวัดอำนาจเจริญ) โรงงานแปรรูปไม้ (จังหวัดยะลา) จากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า นอกจากการเฝ้าระวังโรคแล้ว การเฝ้าระวังสิ่งคุกคามสุขภาพถือเป็นความสำคัญของระบบการเฝ้าระวังปัญหาทางด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม โดยการเฝ้าระวังสิ่งคุกคามสุขภาพสามารถกระทำได้โดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วจากแหล่งต่างๆ มาใช้ประโยชน์และสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมจากในพื้นที่ อย่างไรก็ตามปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญคือ การขาดข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลสิ่งคุกคามจากแหล่งต่างๆ การประสานข้อมูล ความรู้ของเจ้าหน้าที่ในการสำรวจสิ่งคุกคามและความร่วมมือจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด การศึกษานี้ถือว่าเป็นก้าวแรกของการนำข้อมูลที่ได้ไปใช้เพื่อการวางระบบการเฝ้าระวังสิ่งคุกคามสุขภาพต่อไป
บทคัดย่อ
The objectives of the study were:To develop a model for occupational and environmental health hazard surveillance which focused on agricultural and industrial sectors,To collect data and information regarding occupational and environmental health at provincial level,To identify health hazard information for the development of surveillance system. In addition, all of this information was used to prioritize occupational and environmental health problems at provincial level.The methods of the study were designed to encourage all relevant organization participation. Six provinces, such as Nan, Uttaradit, Ayutthaya, Srakaew, Amnajchareun, and Yala, were invited to join the project. The steps of the study included data collection and survey. The secondary data, e.g., general information of province, number of working population, and number and type of factories, were collected from relevant organizations in provinces. After that, a survey of health hazards in agriculture was conducted by local health officers. A self-assessment health book for farmers from Bureau of Occupational and Environmental Diseases was used as a tool to collect the data. The target population was 150 farmers for each province. The sample was taken by cluster sampling from each household of three districts. Regarding the industrial sector, the information about number and type of factories was collected. Only one workplace from each type of factories was chosen to conduct a survey in order to get the information about workplace information, working process, and health hazards. This information including the data from Workmen’s Compensation Fund was analyzed to set up a priority of the problems in terms of type of factories.The results showed that working population among 6 provinces was about ¾ of total population. Most of them are farmers, e.g., 85% in Nan, and 70% in Uttaradit. Almost farmers are rice-farmers. However, the majority in Yala is rubber gardener. Regarding the industrial sector, the data showed that the leading factories were agricultural industry. Ayutthaya was the province where the number of factories and number of workers were highest. In spite of very high number of target population, there are very few numbers of occupational health professionals who can provide occupational health services in all of those provincesThe data from the survey showing that farmers’ health hazards include 1) heat and sunlight, 2) ergonomic problems and accident, and 3) unsafe use of pesticide. On the other hand, there were lots of health hazards, especially chemical, in industries. Types of industries that were the most important for setting up the surveillance were firework factories (Nan), Auto-body and repair shops (Uttaradit), Shoe-making factories (Ayutthaya), wood factories (Srakaew), rice mill factories (Amnajchareun), and wood factories (Yala).In conclusions, hazard surveillance is very essential and important for occupational and environmental health surveillance system. The system can use all secondary data from several sources in province. Apart from that, a field survey is needed to assist in identifying other hazard information. The problems identified by the study included lack of some data, no system for data sharing, low capacity of local health officers in hazard identification, and lack of cooperation among relevant organizations and workplaces. However, the study showed its promising achievement as a first step for surveillance system development.