บทคัดย่อ
รายงานวิจัย ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ: มิติทางกฎหมาย ศึกษาธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นกรอบและแนวทางกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศคือ เป็นกรอบกำหนดทิศทางระบบสุขภาพของประเทศ เพื่อทำให้ประชาชนมีสุขภาวะหรือสุขภาพอย่างสมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญาและทางสังคมที่เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติไม่ถือเป็นกฎหมายตามแบบพิธีและไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย แต่ก็มิได้หมายความว่าธรรมนูญฯ ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว จะเป็นสิ่งที่ปราศจากความผูกพันใดๆ เนื่องจากพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติได้วางกลไกที่จะสร้างความผูกพันของหน่วยงานของรัฐไว้ ซึ่งจะทำให้เกิดผลผูกพันอย่างจริงจังต่อเมื่อเนื้อหาของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติมีความเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติมาตรา 80 (2), มาตรา 75 , มาตรา 76 ในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ กล่าวคือ จะต้องมีการผลักดันให้ธรรมนูญฯ เป็นส่วนหนึ่งของ “นโยบายรัฐบาล” และ “แผนการบริหารราชการแผ่นดิน” ของรัฐบาลที่จะมีผลผูกพันฝ่ายบริหารและส่วนราชการต่างๆ รวมถึง “แผนการตรากฎหมาย” ที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามนโยบายและแผนการบริหารราชการแผ่นดิน บทบัญญัติเรื่องสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพบางมาตรา รวมทั้งธรรมนูญฯตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มีความเกี่ยวข้องกับบทบัญญัติในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แนวทางที่จะทำให้เนื้อหาของธรรมนูญฯ มีผลผูกพันต่อหน่วยงานของรัฐอย่างจริงจังแน่นอน คือ การทำให้สาระสำคัญของธรรมนูญฯ เป็นเครื่องมือในการพัฒนากฎหมายด้านสุขภาพ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจะต้องร่วมกับสมัชชาสุขภาพและเครือข่ายสุขภาพ เพื่อผลักดันให้ประชาชนใช้สิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อรัฐสภาตามมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญ จึงจะทำให้พระราชบัญญัตินี้กลายเป็นกฎหมายแม่บทสุขภาพสมดั่งเจตนารมณ์ของผู้มีส่วนยกร่างกฎหมาย ทั้งนี้ เนื้อหาของธรรมนูญฯ จะต้องสัมพันธ์กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 – 2554) และแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550 – 2554) รวมถึงกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพต่างๆ