บทคัดย่อ
การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ในหน่วยงานสาธารณสุข จังหวัดพิจิตร การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการมีและการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ โปรแกรมและพัฒนาบุคลากรเพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสาร สนับสนุนการบริการ การบริหารและเพื่อเป็นแนวทางในการนำคอมพิวเตอร์ มาใช้ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และสถานีอนามัยในแห่งอื่น ๆ การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร พบว่ามีการพัฒนาด้าน Hardware คือ มีการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ มีระบบการให้คำปรึกษาและดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยมีผู้รับผิดชอบงานคอมพิวเตอร์เป็นผู้ดำเนินการ ส่วนด้าน Software มีการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ เพื่อสนองต่อผู้ใช้คอมพิวเตอร์และลดภาระการประมวลผลข้อมูลที่มีจำนวนมาก และพัฒนาโปรแกรมให้หน่วยงานย่อยระดับอำเภอได้ใช้เพื่อกรอกข้อมูลและส่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ด้าน Peopleware ได้มีการอบรมทั้งผู้บริหาร และผู้ใช้คอมพิวเตอร์ โดยใช้วิทยากรภายใน และมีผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น หลักสูตรการอบรมมีทั้งโปรแกรมสำเร็จรูปและโปรแกรมที่พัฒนาเอง สำหรับด้านบริหารจัดการได้จัดตั้งงานคอมพิวเตอร์มีหน้าที่ในการวางแผนปฏิบัติงานบริการคอมพิวเตอร์, พัฒนาโปรแกรม,ฝึกอบรมและให้คำปรึกษา แนะนำแก้ไข การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ด้าน Hardware และ Software และการนิเทศติดตาม ประเมินผลการใช้ คอมพิวเตอร์ การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ จังหวัดพิจิตร พบว่ามีการพัฒนาด้าน Hardware คือ มีการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นในทุกแห่ง ด้าน Software มีการนำโปรแกรมประยุกต์ที่พัฒนาโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมาใช้ เพื่อกรอกและส่งข้อมูล และบางส่วนใช้จากโปรแกรมสำเร็จรูปอื่น ๆ ด้าน Peopleware มีการอบรมผู้ใช้คอมพิวเตอร์โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในการใช้โปรแกรมต่าง ๆ ส่วนด้านการจัดการมีการจัดตั้งผู้รับผิดชอบงานคอมพิวเตอร์ในระดับอำเภอ มีหน้าที่ในการวางแผนปฏิบัติ, อบรม และให้คำแนะนำการใช้โปรแกรม แก้ไขการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ด้าน Hardware และ Software และรายงานผล/ประเมินผลการใช้คอมพิวเตอร์ การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ในสถานีอนามัย จังหวัดพิจิตร แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่หนึ่งระหว่างปี 2534-2537 เป็นการศึกษาการใช้คอมพิวเตอร์ในสถานีอนามัย และระยะที่สองเริ่มตั้งแต่ปี 2538 เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ประชากรที่ใช้ศึกษาคือ สถานีอนามัยตำบลบ้านบุ่ง สถานีอนามัยตำบลป่ามะคาบและสถานีอนามัยตำบลท่าบัว เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบกลุ่มและเชิงลึก การสังเกต และข้อสรุปจากการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาในระยะที่ 1 พบว่า การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในสถานีอนามัยเกิดจากผู้บริหารระดับอำเภอ มีวิสัยทัศน์ การใช้ได้มีการเตรียมบุคลากรไว้ก่อนแล้ว เมื่อนำคอมพิวเตอร์มาใช้ที่สถานีอนามัย จึงมีผู้ที่สามารถพัฒนาระบบขึ้นมาเองได้ โดยมีความชอบ ความสนใจ และคำปรึกษาจากผู้รับผิดชอบคอมพิวเตอร์ ระดับจังหวัดเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญ ระบบคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาประกอบด้วยรายงาน 400, ระบบบัญชี 1-5 และระบบคลังยา การทำงานสามารถประมวลผลข้อมูลได้เร็วขึ้น 4-10 เท่า การพัฒนาในระยะแรกนี้เป็นแบบพึ่งตนเอง ปัญหาที่พบคือขาดความรู้และทฤษฎีที่ถูกต้อง ระบบที่พัฒนาไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบเดิม และมีสถานีอนามัยบางแห่งไม่ประสบความสำเร็จในการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ เนื่องจากบุคลากรขาดคุณภาพ ไม่มีการเตรียมความพร้อมไว้ก่อน และหัวหน้าสถานีอนามัยไม่เข้าใจระบบงานคอมพิวเตอร์เป็นผลให้ขาดการสนับสนุน การพัฒนาระยะต่อมาได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลาง ทั้งผู้เชี่ยวชาญ ความรู้ และเครื่องมือในการพัฒนาระบบ (Rclip Tool Library) ทำให้มีการวิเคราะห์และออกแบบระบบที่ดีกว่าเดิม การใช้คอมพิวเตอร์มีส่วนช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่ในการประมวลผลกระบวนการทำงานลดลง เจ้าหน้าที่มีความมั่นใจในระบบที่พัฒนาขึ้นใหม่ และมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ทำให้สถานีอนามัยหลายแห่งนำคอมพิวเตอร์มาใช้ โดยสรุปแล้วปัจจัยที่มีผลในการพัฒนา คือ บุคลากร (Peopleware) โปรแกรม (Software) และการจัดการระบบ (System) เช่น ผู้บริหารระดับอำเภอให้การสนับสนุน และมีงานคอมพิวเตอร์ระดับจังหวัดสนับสนุนวิชาการสำหรับผลการพัฒนาระยะที่ 2 นี้ ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา และมีการขยายผลการใช้คอมพิวเตอร์ในสถานีอนามัยเป็นจำนวน 65 แห่ง จึงควรมีการศึกษาและพัฒนาต่อไป