บทคัดย่อ
บทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ต่อการพัฒนางานด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม จังหวัดพิจิตรการศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างบุคลากรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สถานะทางการเงิน กิจกรรม และวิสัยทัศน์ของ อบต.ในเรื่องสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ศึกษาความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับบทบาทของ อบต.ในงานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ศึกษาความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับบทบาทของ อบต. ในงานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ศักยภาพชุมชนที่เป็นที่ตั้งของ อบต.และความรู้ ความเข้าใจบทบาทศักยภาพในการแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยต่อ อบต. กลุ่มตัวอย่างคัดเลือกจาก อบต.ที่สมัครใจเข้าร่วมในการศึกษา จำนวน 6 แห่ง เป็น อบต.ที่เปิดดำเนินการ ในปี 2538 จำนวน 5 แห่ง และปี 2539 จำนวน 1 แห่ง ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกต การสัมภาษณ์ และการสนทนากลุ่มจากสมาชิก อบต.ทั้งหมด จำนวน 219 คน เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยจำนวน 24 คน และประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ 535 คน นอกจากนี้ยังศึกษาจากเอกสาร ผลงานที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาการเก็บข้อมูล 3 เดือน ผลการศึกษาพบว่า อบต.ทั้ง 6 แห่ง มีโครงสร้างเป็น อบต.ชั้น 5 ไม่มีฝ่ายและบุคลากรที่รับผิดชอบงาน สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมโดยตรง ในการดำเนินงานด้านนี้มอบหมายผู้รับผิดชอบเป็นครั้งคราว ประสานงานกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยเป็นหลัก กิจกรรมที่ดำเนินงานด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมมีเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับกิจกรรมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเป็นการดำเนินการโดยชุมชน ร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย งบประมาณดำเนินการใช้จากแหล่งอื่น ๆ ไม่พบการใช้งบประมาณของ อบต.สนับสนุนกิจกรรมด้านสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม สถานะทางการเงินของ อบต.พบว่ารายรับส่วนใหญ่ได้จากงบประมาณของรัฐบาล รองลงมาเป็นรายได้จากการเก็บภาษี รายจ่ายส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านความเข้าใจของสมาชิก อบต.ต่อปัญหาสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม พบว่า 2 แห่งมีความเข้าใจค่อนข้างดี แต่ก็ไม่ส่งผลให้เกิดการปฏิบัติเช่นเดียวกับ อบต.แห่งอื่น ๆ สมาชิก อบต.ส่วนใหญ่ไม่มีวิสัยทัศน์ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ภารกิจของ อบต.ที่เกี่ยวข้องกับงานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ชุมชนมีศักยภาพในการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการแก้ปัญหาสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมของสถานีอนามัย สามารถดำเนินงานได้ผลดี โดยมี อสม.เป็นแกนสำคัญ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยส่วนใหญ่มีความเข้าใจค่อนข้างดี แต่มีปัญหาเรื่องการประสานงาน และ อบต.ให้การสนับสนุนงานด้านสาธารณสุขน้อยมาก