บทคัดย่อ
สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันเป็นประเทศแรกที่ประสบความสำเร็จในการจัดหลักประกันด้านสังคมและสุขภาพให้แก่ประชาชนด้วยระบบประกันสังคมหรือประกันภาคบังคับ ปรัชญาและหลักการพื้นฐานสำคัญของระบบการเมืองเยอรมันคือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในสังคม (Solidarity) การกระจายอำนาจและบทบาทหน้าที่ระหว่างหน่วยงานรัฐ (ส่วนกลาง ภูมิภาค) และเอกชน (Subsidiarity) เป็นพื้นฐานการพัฒนาองค์กรทางสังคมจากล่างขึ้นบน กระจายอำนาจในการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้กับหน่วยงานท้องถิ่นหรือภาคเอกชนในการดำเนินการ และแนวคิดหลักที่สามคือ การมีองค์กรร่วม (Corporatist organization ที่จะมีตัวแทนทั้งสองประเภทคือทั้งจากตัวแทนวิชาชีพ และตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง ในระบบสุขภาพเองก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานดังกล่าว ระบบบริการสุขภาพของเยอรมันนั้น ภาครัฐมีบทบาทหลักในการสร้างกรอบกฎหมายในการควบคุมกำกับ ในขณะที่การดำเนินงานนั้นกระจายให้องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรเป็นผู้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็นกองทุนการเจ็บป่วย และการจัดบริการ ทั้งนี้จะมีการกำกับกันและปฎิสัมพันธ์กันผ่านทางองค์กรที่เป็นตัวแทนของแต่ละกลุ่ม เช่น สมาคมกองทุนการเจ็บป่วย (Association of Sickness funds) สมาคมแพทย์ (Association of Panel Doctors) ฯลฯ การปฏิรูปในเยอรมันนั้นมุ่งเน้นการให้ประโยชน์กับประชาชนและสังคมโดยรวมเป็นที่ตั้ง การกำหนดให้มีกฎหมายประกันสุขภาพทำให้ประชาชนกลุ่มต่างๆได้รับหลักประกันด้านสุขภาพแบบทั่วหน้า ในขณะที่การกำหนดความสัมพันธ์ขององค์กรต่างๆในสังคมก็เพื่อเป็นการคานอำนาจและการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ทำให้ระบบโปร่งใสขึ้น การปฏิรูปช่วงหลังที่มุ่งเน้นการควบคุมรายจ่ายนั้นก็เป็นความพยายามในการควบคุมพฤติกรรมของผู้ให้บริการและโรงพยาบาลเป็นหลัก เพื่อควบคุมไม่ให้รายจ่ายด้านสุขภาพนั้นเพิ่มมากว่ารายได้ของประชาชน กล่าวโดยสรุปความสำเร็จของการปฏิรูประบบสุขภาพของเยอรมันนั้นเกิดจาก ปรัชญาและหลักการพื้นฐานของสังคม เป็นหลัก ในขณะที่บริบทด้านการเมือง ภาวะเศรษฐกิจ อิทธิพลของกลุ่มต่างๆ และภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพนั้นเป็นแรงผลักดันสำคัญของการปฏิรูป
บทคัดย่อ
Germany was the first country to institute nationwide insurance-based social and health programs. Three powerful ideas or principles underlie the development of German health insurance and medical care policy, Solidarity, Subsidiarity, and Corporatist organization. The main roles of government (State and Federal governments) are providing legal framework and regulation while providing of services and insurance are delegated to self-governance agencies, sickness funds, various associations (Association of Sickness Funds, Association of Panel doctor, etc), and health care carriers.The German reform aimed to achieve overall social benefits. Enactment of laws achieved universal access to health care and delegation of public roles to various self-governance bodies enable accountability and transparency of the system. The later reforms intended to control increase of medical care cost to be not exceeding level of income growth and more emphasized on controlling provider and hospital behavior. By conclusion, success of the German health system reform is according to values and principles of the society while economic, political context and increase of health care expenditure determine the need for reform.