บทคัดย่อ
การสร้างและจัดการความรู้เพื่อพัฒนากำลังคนแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และแพทย์ทางเลือก เป็นผลจากการศึกษาวิเคราะห์เชิงระบบ โดยการทบทวนเอกสาร การสุ่มสำรวจข้อมูลความคิดเห็นของผู้เข้าสอบขึ้นทะเบียนประกอบโรคศิลป์ การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ โดยใช้องค์ประกอบที่สำคัญของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ด้านสุขภาพ 3 ด้าน คือ 1) การกำหนดนโยบายและการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ 2) การผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 3) การใช้และการธำรงรักษาบุคลากร เป็นกรอบแนวคิดในการวิเคราะห์ การศึกษานี้ได้ทำการประเมินสถานการณ์การสร้าง การใช้ และการจัดการความรู้ในแต่ละองค์ประกอบ และวิเคราะห์หาส่วนขาด ผลการศึกษาพบว่า ขาดกลไกกำหนดนโยบายและวางแผนทั้งในภาพรวมของระบบ ขาดการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และแพทย์ทางเลือก ทั้งในด้านแผนการผลิต หลักสูตร วิธีการจัดการเรียนการสอน มาตรฐาน-คุณภาพครูอาจารย์ การประกันคุณภาพการศึกษา กลไกการประสานงานระหว่างหน่วยผู้ผลิต ผู้ใช้ ตัวแทนผู้บริโภค และหน่วยนโยบาย ขาดนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการผลิตและการใช้กำลังคนให้มีความสอดคล้องและมีประสิทธิภาพ ทำให้ขาดความชัดเจนของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านระบบการคัดเลือกสรรหา ระบบค่าตอบแทนแรงจูงใจ ระบบความก้าวหน้าในอาชีพ และระบบการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ขาดการสร้าง พัฒนาองค์ความรู้วิชาแพทย์พื้นบ้าน แพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือกที่ชัดเจนทำให้ระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนขาดทิศทางที่ชัดเจน สรุปสาระสำคัญของข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การสร้างและจัดการความรู้เพื่อพัฒนากำลังคนแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และแพทย์ทางเลือกมีดังนี้ 1. เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาการแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และแพทย์ทางเลือก คือ การพลิกฟื้นนำเอาภูมิปัญญา องค์ความรู้ ให้กลับมามีบทบาทในการบริบาล ดูแล รักษา พัฒนาสุขภาพพลานามัย โดยจำเป็นต้องมีการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสุขภาพของชาติ ให้เป็นระบบแบบพหุลักษณ์ที่ผสมผสานองค์ความรู้ทั้งแผนไทยและแผนตะวันตกเข้าด้วยกัน โดยยังคงความเป็นอัตลักษณ์ ความมีคุณค่าของแต่ละระบบย่อยเอาไว้ 2. ข้อเสนอเชิงนโยบายในการสร้างและจัดการความรู้ เพื่อการพัฒนากำลังคนแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน แพทย์ทางเลือก แบ่งออกเป็น ระดับบุคคล ระดับองค์กร และระดับมหภาคในเชิงระบบ 2.1 ระดับบุคคล ควรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการรวมรวม จัดเก็บ ประเมินความรู้แพทย์แผนไทย-พื้นบ้าน-ทางเลือก ที่มีประสิทธิผล ปลอดภัย และมีความเหมาะสมในด้านราคา เพื่อนำไปเผยแพร่สู่สาธารณชน ในหลากหลายรูปแบบวิธีการ รวมทั้งรูปแบบวิธีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่เน้นหลักสูตรระยะสั้น เพื่อให้ประชาชนสามารถมีโอกาสเข้าถึง มีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวางมากที่สุด 2.2 ระดับองค์กรควรพิจารณาแนวทางการพัฒนาในลักษณะบุคลากรแบบวิชาชีพ หรือกึ่งวิชาชีพ โดยคำนึงถึงคุณภาพ มาตรฐานของบุคลากรที่ได้มีการผลิตหรือพัฒนาขึ้นเป็นสำคัญ ใช้แนวทางการสร้างและจัดการความรู้ 2.3 ระดับมหภาคในเชิงระบบ มีข้อเสนอเชิงนโยบายในการสร้างและจัดการความรู้ที่สำคัญ 4 ประการคือ 1) ปรับปรุงและยกระดับการทำงานของกรมพัฒนาแพทย์แผนไทยฯ ให้เป็นหน่วยสร้างและจัดการความรู้ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาแพทย์แผนไทยฯ ระดับชาติ 2) จัดตั้งและสนับสนุนเครือข่ายสถาบันการศึกษาและฝึกอบรมด้านแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และแพทย์ทางเลือก เพื่อเป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สนับสนุนแลกเปลี่ยนทรัพยากร จุดเด่นระหว่างสถาบันการศึกษา ยกระดับขึ้นเป็นชุมชนนักปฏิบัติ 3) ปรับปรุงพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้านที่ใช้รูปแบบการมอบตัวเป็นศิษย์ และ 4) กำหนดให้มีโครงสร้าง กรอบอัตรากำลังสำหรับบุคลากรแพทย์แผนไทยฯ ของภาครัฐที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม