บทคัดย่อ
ระบบบริการตติยภูมิอุบัติเหตุเป็นหนึ่งในสามระบบบริการตติยภูมิเกิดขึ้นในช่วงปี 2545 โดยแนวคิดในการพัฒนาระบบในระยะเริ่มต้นมีเป้าหมายให้สถานพยาบาลระดับ 1ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าเครือข่ายบริการดูแลแบบครบวงจรทั้งรักษาป้องกัน ฟื้นฟูสภาพจนคนไข้สามารถกลับไปสู่สังคมได้ รวมถึงการจัดการระบบส่งต่อ การส่งต่อในพื้นที่ การพัฒนาบุคลากรและการวิจัยการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา มีการตั้งศูนย์ตติยภูมิด้านอุบัติเหตุขึ้นทั้งสิ้น 28 ศูนย์ นโยบายนี้สามารถทำให้ผู้บริหารสถานพยาบาลและผู้เกี่ยวข้องตื่นตัวในการดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างเป็นระบบมากขึ้น การได้รับงบประมาณสนับสนุนด้านครุภัณฑ์ บุคลากร และค่าตอบแทนเป็นการส่งสัญญาณให้โรงพยาบาลศูนย์ตติยภูมิหลายแห่งได้พัฒนางานด้านนี้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามระบบมิได้ตั้งขึ้นลอยๆ แต่ตั้งบนระบบบริการสาธารณสุขเดิมที่มีปัญหาความขาดแคลนบุคลากร และปัญหาโครงสร้างสถานพยาบาลที่อาจไม่ได้เตรียมรองรับปริมาณคนไข้ที่เพิ่มขึ้นได้ สถานพยาบาลตติยภูมิสามารถให้บริการได้ตามมาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในสาขาที่จำเป็นหรือสาขาที่เสี่ยงต่อชีวิต ทั้งที่มีความขาดแคลนบุคลากรในสถานพยาบาล อานิสงค์ส่วนหนึ่งน่าจะได้มาจากการจัดสรรงบค่าตอบแทนทำให้ระบบดำเนินไปได้ผลลัพธ์ของการดำเนินการโรงพยาบาลตติยภูมิชั้นสูงด้านการบาดเจ็บ 28 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ร้อยละ 21-22 ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยมีความแตกต่างกันไปในแง่ของปริมาณผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา โดยทั่วไปโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขจะรับคนไข้ปริมาณมากกว่า เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในขณะที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยรับคนไข้จากภูมิลำเนาที่กว้างขวางกว่าโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข มีการเพิ่มของคนไข้กลุ่มอุบัติเหตุของโรงพยาบาลศูนย์ตติยภูมิในช่วงปี 2547-2549 โดยกลุ่มที่เข้าถึงบริการเพิ่มคือ กลุ่มสิทธิ์ประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพ ยังพบปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อพิจารณาลักษณะคนไข้ โรงพยาบาลตติยภูมิรับคนไข้อาการหนักกว่าโรงพยาบาลที่ไม่ได้เป็นศูนย์ตติยภูมิเล็กน้อย ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาในอนาคต มีในประเด็นต่อไปนี้ 1) ความชัดเจนของนโยบายว่าจะให้ดำเนินการในลักษณะ exclusive system เน้นคุณภาพการรักษาในโรงพยาบาล ส่วนระบบส่งต่อ ระบบพัฒนาบุคลากรให้หน่วยงานอื่นดูแล หรือ Inclusive system ที่โรงพยาบาลตติยภูมิต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำเครือข่ายดูแลระบบส่งต่อ การพัฒนาคน วิจัยป้องกันการบาดเจ็บในพื้นที่เอง 2) หาเจ้าภาพในการดำเนินการหรือ focal point ของระบบเพื่อผลักดันนโยบายนี้อย่างต่อเนื่อง 3) กำหนดแผนระยะยาว (5ปี) และกรอบกิจกรรมการดำเนินการ การประเมิน และกำกับให้มีการดำเนินการตามแผน 4) ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันการเกิดการบาดเจ็บให้มากขึ้นโดยโรงพยาบาลทำหน้าที่สะท้อนข้อมูล หรือเป็นเจ้าภาพจัดเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชน