บทคัดย่อ
การติดตามดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (ความดันโลหิตสูง)โดยเภสัชกรชุมชน พบว่าการมีส่วนร่วมของเภสัชกรในการติดตามดูแลผู้ป่วยในชุมชนในประเทศไทย ยังไม่เป็นบทบาทที่ชัดเจนทั้งตัวเภสัชกรเองและวิชาชีพอื่น วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อประเมินผลของการมีส่วนร่วมของเภสัชกรในการติดตามดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จุดประสงค์ของการติดตามรักษาความดันโลหิตสูงเพื่อให้ผู้ป่วยควบคุมระดับความดันโลหิตให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของ The Joint National Committee on Prevention, Detection, Evaluation and Treatment of High Blood Pressure (JNC-6) จากผลการวิจัยสรุปได้ว่า ผู้ป่วยที่มีเภสัชกรเข้ามีส่วนร่วมในการติดตามรักษาความดันโลหิตสูงได้รับประโยชน์อย่างมากในเรื่องการลดระดับความดัน เพิ่มอัตราการใช้ยา ความรู้ และความรู้สึกในการประเมินสุขภาวะสูงมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีเภสัชกรเข้ามีส่วนร่วมในการรักษา และในด้านการติดตามดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (วัณโรคปอด)โดยเภสัชกรชุมชน พบว่า ประเทศไทยได้ถูกจัดอันดับที่ 16 ใน 22 กลุ่มประเทศเสี่ยง ปีค.ศ. 2002 ตามรายงานการควบคุมวัณโรคขององค์การอนามัยโลก เภสัชกรเป็นหนึ่งทีมวิชาชีพสุขภาพที่ควรมีบทบาทในการพัฒนาผลการรักษาแก่ผู้ป่วยนอกวัณโรคปอดงานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ทางด้านคลินิกตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ความพึงพอใจต่อการเข้ารับบริการที่ร้านยามหาวิทยาลัยและคุณภาพชีวิตระหว่างผู้ป่วยนอกวัณโรคปอดที่ได้รับการรักษาในระบบเดิมที่โรงพยาบาลและผู้ป่วยที่เข้ารับบริการที่ร้านยามหาวิทยาลัย ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มให้ความเห็นต่อสุขภาพโดยรวมว่าดีกว่าปีที่แล้ว การให้บริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยนอกวัณโรคปอดโดยเภสัชกรชุมชนสามารถเพิ่มอัตราการรักษาสำเร็จบรรลุตามเป้าหมายขององการอนามัยโลก (มากกว่าร้อยละ 85) และยังลดอัตราผู้ป่วยสูญหายและอัตราการรักษาล้มเหลว ผู้ป่วยมีความพึงพอใจต่อการรับบริการจากเภสัชกร ดังนั้นการมีส่วนร่วมของเภสัชกรชุมชนในทีมวิชาชีพสุขภาพสามารถเพิ่มผลลัพธ์ทางคลินิกแก่ผู้ป่วยนอกวัณโรคปอด