บทคัดย่อ
การบูรณาการการแพทย์นอกกระแสหลัก (unconventional medicine) เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ เป็นทั้งเป้าหมายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการแพทย์นอกกระแสหลัก การบูรณาการดังกล่าวควรดำเนินการให้มีการใช้จุดแข็งของการแพทย์แต่ละระบบ เพื่อสนับสนุนการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ความเข้าใจความแตกต่างของฐานความคิด ปรัชญา และข้อจำกัดของการแพทย์แต่ละระบบจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการจัดให้เกิดระบบบูรณาการที่เหมาะสมต่อไป การบูรณาการการแพทย์นอกกระแสหลักเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นการใช้กลไกทางการเงินการคลังในการบูรณาการ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนมีการใช้บริการการแพทย์นอกกระแสหลักเพิ่มขึ้น มียุทธศาสตร์ในการดำเนินงานที่สำคัญคือขยายสิทธิประโยชน์ (benefit package) ของระบบประกันสุขภาพแห่งชาติให้ครอบคลุมการแพทย์นอกกระแสหลัก โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกบริการคือ เป็นบริการที่มีกฎหมายรองรับ เป็นบริการที่มีประสิทธิผลต่อต้นทุนและมีผลการศึกษาวิจัยสนับสนุน เป็นบริการที่ได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายมานาน และเป็นบริการที่ควรได้รับการคุ้มครองตามแนวคิดการประกันสุขภาพ มีบริการที่ควรได้รับการพิจารณาให้ครอบคลุมประกอบด้วย บริการการนวดแผนไทย ยาสมุนไพร และการฝังเข็ม พัฒนาระบบประกันคุณภาพบริการ (quality assurance) ทั้งการประกันคุณภาพ ปัจจัยนำเข้าและกระบวนการให้บริการ พัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วย (referral system) ระหว่างการแพทย์ระบบต่างๆ พัฒนาระบบการเงินการคลัง (health financing system) ได้แก่ การศึกษาต้นทุนและงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ และการพัฒนาระบบการจ่ายเงินผู้ให้บริการและการร่วมจ่ายของผู้ใช้บริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติน่าจะเป็นองค์กรประสานและผลักดันยุทธศาสตร์ให้เกิดการบูรณาการการแพทย์นอกกระแสหลักได้ดีที่สุด โดยมีองค์กรต่างๆ เป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ (strategic alliance) และมีบทบาทสำคัญในแต่ละด้านแตกต่างกัน กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีบทบาทหลักในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาผู้ให้บริการ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขมีบทบาทหลักในการบริหารจัดการความรู้ ทั้งการสร้างความรู้ใหม่หรือความรู้ในส่วนที่มีไม่เพียงพอ การสื่อสารเพื่อให้เกิดการใช้ความรู้ในการพัฒนานโยบาย ทั้งนี้การบริหารจัดการความรู้ควรทำในรูปแผนงานวิจัยที่มีผู้จัดการแผนงานวิจัยปฏิบัติงานเต็มเวลา ประกอบด้วยชุดโครงการวิจัยจำนวน 4 ชุด เพื่อตอบคำถามหรือพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นคือชุดโครงการวิจัยประสิทธิผลบริการชุดโครงการวิจัยพัฒนามาตรฐานบริการชุดโครงการวิจัยระบบการเงินการคลังชุดโครงการวิจัยพฤติกรรมบริการงบประมาณสำหรับแผนงานวิจัยเบื้องต้นจำนวน 100 ล้านบาท สำหรับระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี โดยหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณประกอบด้วย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมกันนี้ ควรมีการพัฒนาศักยภาพและจำนวนนักวิจัยในสาขานี้เพิ่มมากขึ้น ให้เพียงพอกับความต้องการของระบบในปัจจุบัน