บทคัดย่อ
การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ กรณีโครงการเหมืองแร่โพแทซ เกิดขึ้นจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องผลกระทบทางสุขภาพโครงการเหมืองแร่โพแทช : แนวทางประยุกต์ใช้ในสังคมไทย ระหว่างวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2546 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ในการนี้ผู้ร่วมเวทีได้มีพันธะสัญญาร่วมกันว่าจะช่วยกันศึกษาผลกระทบทางสุขภาพในรูปแบบของงานวิจัยไทบ้าน คณะทำงานศึกษาและติดตามโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี จึงได้พัฒนาเป็นโครงการประเมินผลกระทบทางสุขภาพขึ้น โดยใช้รูปแบบของการวิจัยแบบมีส่วนร่วม มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคาดการณ์ผลกระทบทางสุขภาพแบบสมบูรณ์ที่เกิดจากโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี และเพื่อเสนอแนะแนวทางและทิศทางของโครงการเหมืองแร่โพแทซ จังหวัดอุดรธานี วิธีการศึกษามีทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ โดยการทบทวนเอกสาร การสำรวจ การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่มย่อย (Focus Group) และการจัดเวทีระดมความคิดเห็น สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานได้ประยุกต์มาจากแนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพประเทศแคนาดา คือ (1) วิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสีย (2) ศึกษาการให้คุณค่าต่อโครงการของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (3) กำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบฯ (4) ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน (5) ประเมินความเสี่ยง และ (6) ผลักดันข้อเสนอเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ ทั้งนี้ข้อมูลเรื่องเทคนิค และกระบวนการทำเหมืองแร่ คณะผู้วิจัยได้อ้างอิงจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โครงการเหมืองแร่โพแทช แหล่งอุดรใต้ ฉบับสมบูรณ์ (ฉบับแปล) ของบริษัทเอเชียแปซิฟิค โปแตซ คอร์เปอเรชั่นจำกัด (APPC) ที่จัดทำโดยบริษัททีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด แปลโดย บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นไวรอนเม็นทอน แมนเนจเม็นท จำกัด, กันยายน 2545 และรายงานฉบับเพิ่มเติม ซึ่งจัดทำโดย บริษัทอินเตอร์นั่นแนล เอ็นไวรอนเม็นทอลแมนเนจเม็นท จำกัด, ธันวาคม 2547 กระบวนการศึกษาในครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 2 ปี มีผู้เข้าร่วมตลอดกระบวนการมากกว่า 2,000 คน ทั้งภาครัฐและ เอกชน ประชาชน นักวิชาการ สื่อมวลชนและองค์กรพัฒนาเอกชน ผลการศึกษาพบว่าการดำเนินการโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ เป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ท้องถิ่นและคนที่มีโอกาสทำงานในเหมือง มีเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นมากขึ้น คนอุดรฯ มีอาชีพหลากหลายขึ้น มีการพัฒนาสาธารณูปโภคขึ้นพื้นฐาน มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำเหมืองแร่ให้กับคนไทย ลดการนำเข้าปุ๋ย และก่อให้เกิดการรวมตัวของภาคประชาสังคมเมืองอุดรฯ ในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ (Health Public Policy) ข้อเสียมีผลกระทบต่อสุขภาพโดยมีสาเหตุใหญ่ 2 ประการคือ การพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และกระบวนการทำเหมืองและการแต่งแร่โพแทช