บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงคุณภาพนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระบบบริการสุขภาพอนามัยสำหรับสตรีวัยกลางคนในสถานบริการสุขภาพของภาครัฐและเอกชนในจังหวัดสงขลา กลุ่มที่ศึกษาเป็นผู้ให้และผู้ใช้บริการ ณ คลินิกวัยทอง โรงพยาบาลภาครัฐ จำนวน 3 แห่ง และคลินิกของเอกชนที่ให้บริการส่งเสริมสุขภาพสตรีโดยอ้อมจำนวน 1 แห่ง โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เป็นผู้ให้บริการจำนวน 13 ราย และผู้ใช้บริการที่เป็นสตรีอายุ 40-59 ปี จำนวน 50 ราย เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เจาะลึก การสนทนากลุ่มและการสังเกตทั้งแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม ร่วมกับการบันทึกภาคสนาม ในระหว่างเดือน พฤษภาคม 2542-มีนาคม 2543 และวิธีวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการจำแนกชนิดข้อมูลเป็นหมวดหมู่ตามหลักการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา สรุปประเด็นได้ดังนี้ 1. แนวคิดและระบบบริการส่งเสริมสุขภาพสตรีวัยกลางคนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ระบบบริการที่ดำเนินอยู่เน้นถึงงานด้านการรักษามากกว่างานส่งเสริมป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพ และได้ให้บริการเฉพาะสตรีเพียงบางกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่มีสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ สำหรับระบบบริการที่ดำเนินการโดยเอกชนนั้นยังไม่มีโดยตรง 2. การรับรู้ของสตรีวัยกลางคนเกี่ยวกับภาวะสุขภาพ การหมดระดูและการดูแลส่งเสริมสุขภาพ สตรีให้ความหมายในเรื่องหมดระดูที่หลากหลายตั้งแต่การมองในลักษณะเป็นธรรมชาติ จนถึงการเป็นโรคอย่างเห็นเด่นชัด เมื่อเปรียบเทียบการรับรู้ของสตรีที่อยู่ในชนบทและในเมือง พบว่าสตรีในชนบทมักให้ความหมายไปในลักษณะเป็นธรรมชาติมากกว่ามองที่สาเหตุของโรค และที่มองว่าเกิดจากการขาดฮอร์โมนและมีความจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนทดแทนนั้น เป็นกลุ่มสตรีที่อยู่ในเมืองและเคยมาใช้บริการสุขภาพในคลินิกวัยทอง 3. วิธีการส่งเสริมสุขภาพของสตรีวัยกลางคนในปัจจุบันและปัญหาอุปสรรคที่พบ สตรีทุกรายได้ให้ความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเจ็บป่วยและชะลอความแก่ โดยการนำวิธีต่างๆ มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนเอง แต่การปฏิบัติอาจไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจากปัจจัยบางประการ ได้แก่ ภาระหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ ขาดแหล่งประโยชน์ที่เหมาะสม โดยเฉพาะด้านการเงินและการเดินทาง ขาดแหล่งข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ และที่สำคัญคือขาดความตั้งใจแน่วแน่ในการปฏิบัติและการควบคุมตนเอง ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายที่ได้จากการศึกษานี้คือ การจัดระบบบริการที่เน้นการให้ข้อมูลแก่สตรีเพื่อการดูแลตนเองที่เหมาะสม โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ที่ไม่ต้องพึ่งพายาหรือฮอร์โมนทดแทน เน้นวิธีที่เป็นธรรมชาติโดยใช้กลวิธีหลายประการร่วมกัน ได้แก่ กลไกการจัดการทางสังคม การสนับสนุนให้มีองค์กรนอกระบบหรือเอกชน การใช้เครือข่ายทางสังคมของสตรี และที่สำคัญคือเน้นการมีส่วนร่วมของชายและหญิงในการดูแลส่งเสริม ป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตและสังคมวัฒนธรรมที่ปรากฎอยู่