บทคัดย่อ
ผลการศึกษาของโครงการศึกษาพัฒนาการดำเนินการจัดทำเครื่องชี้วัดภาระโรคและปัจจัยเสี่ยงของประเทศไทยพบว่าภาระทางสุขภาพจากโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทยปี พ.ศ. 2547 สรุปได้ดังต่อไปนี้ การคาดประมาณอายุขัยเฉลี่ยประชากรไทยปี พ.ศ. 2547 พบว่าประชากรไทยมีอายุขัยเฉลี่ยที่ประมาณ 70 ปี ซึ่งสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับอายุเฉลี่ยในปี พ.ศ. 2542 โดยเพศชายมีอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดเท่ากับ 69.5 ปี และในเพศหญิงมีอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดเท่ากับ 76.4 ปี จากการประมาณการจำนวนปีที่สูญเสียไปจากการตายก่อนวัยอันควร (Year of Life Lost YLL) ของประชากรไทยในปี พ.ศ. 2547 พบว่ามีความสูญเสียประมาณ 6.55 ล้านปี โดยผู้ชายไทยมีความสูญเสียจากการตายประมาณ 3.95 ล้านปี หรือเท่ากับ 0.6 เท่าของจำนวนปีที่สูญเสียไปจากการตายทั้งหมด โดยประมาณการขณะที่ผู้หญิงไทยมีความสูญเสียจากการตายประมาณ 2.6 ล้านปี ซึ่งน้อยกว่าความสูญเสียที่เกิดในผู้ชายไทยประมาณ 0.3 เท่า จากการจัดอันดับสาเหตุที่ก่อให้เกิดความสูญเสียอันเนื่องมาจาการตายก่อนวัยอันควร ได้ 20 อันดับแรก ซึ่งครอบคลุมค่าความสูญเสียจาการตายสำหรับเพศประมาณร้อยละ 80 และเพศหญิงประมาณร้อยละ70 เมื่อเทียบจากค่าความสูญเสียทั้งหมด โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดความสูญเสียสูงสุดทั้งชายและหญิง ได้แก่ โรคเอชไอวี/เอดส์ คิดเป็นร้อยละ15.9 และ ร้อยละ 10.6 ตามลำดับ สำหรับเพศชาย สาเหตุรองลงมาคือ อุบัติเหตุทางถนน โรคหลอดเลือดสมองและโรคมะเร็งตับ ส่วนหญิง สาเหตุรองลงมาได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานและโรคหัวใจขาดเลือดตามลำดับ จำนวนปีที่สูญเสียจากภาวะบกพร่องทางสุขภาพ (Year of Life Lost due to Disability: YLD) ของผู้ชายไทยคิดเป็น 1.8 ล้านปี และผู้หญิงคิดเป็น 1.6 ล้านปี สาเหตุหลักของจำนวนปีที่สูญเสียเนื่องจากภาวะบกพร่องทางสุขภาพในเพศชายคือ การเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol dependence) คิดเป็นร้อยละ 17.8 ส่วนเพศหญิงคือ โรคซึมเศร้า (Depression) คิดเป็นร้อยละ 11.7 ความสูญเสียปีสุขภาวะของประชากรไทย ปี พ.ศ. 2547 คิดเป็น 9.9 ล้านปี โดยเพศชายมีความสูญเสียมากกว่าเพศหญิงประมาณ 1.4 เท่า นั่นคือเพศชายมีความสูญเสียประมาณ 5.7 ล้านปี และเพศหญิงมีความสูญเสียประมาณ 4.2 ล้านปี สาเหตุอันดับแรกของความสูญเสียปีสุขภาวะสำหรับประชากรชายไทย ได้แก่ โรคเอชไอวี/เอดส์ คิดเป็นร้อย 11.3 และรองลงมาคือ อุบัติเหตุทางถนน ซึ่งไม่แตกต่างจากอันดับแรกมากนัก คือคิดเป็นร้อยละ 10.2 สำหรับเพศหญิง สาเหตุอันดับแรกของความสูญเสียปีสุขภาวะ คือ โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 7.4 จากความสูญเสียทั้งหมด รองลงมาคือ โรคเอสไอวี/เอดส์ โรคเบาหวานและโรคซึมเศร้า ตามลำดับ น้ำหนักแรกเกิดต่ำ (Low birth weight) และโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความสูญเสียเป็นสองอับดับแรกในเด็กกลุ่มอายุ 0-14 ปี ทั้งชายและหญิง สาเหตุหลักของความสูญเสียปีสุขภาวะของกลุ่มอายุ 15-29 ปี ได้แก่ อุบัติเหตุ โรคทางจิตเวช และโรคเอชไอวี/เอดส์ ซึ่งทั้งสามกลุ่มโรคนี้ครอบคลุมความสูญเสียปีสุขภาวะในเพศชายร้อยละ 75 และในเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 61 ของความสูญเสียทั้งหมด สาเหตุหลักความสูญเสียปีสุขภาวะของกลุ่มอายุ 30-59 ปี ทั้งชายและหญิงคือ โรคเอชไอวี/เอดส์ เพศชายอันดับรองลงมาคือ อุบัติเหตุทางถนน การเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และมะเร็งตับ สำหรับเพศหญิง สาเหตุของความสูญเสียอันดับรองลงมาคือ โรคซึมเศร้า โรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดสมอง สำหรับประชากรไทยกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป โรคที่เป็นสาเหตุของความสูญเสียสองอันดับแรกในชายคือ โรคหลอดเลือดสมองและภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง ส่วนเพศหญิง คือ โรคหลอดเลือดสมองและโรคเบาหวาน น้ำหนักแรกเกิดต่ำ (Low birth weight) และโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความสูญเสียเป็นสองอันดับแรกในเด็กกลุ่มอายุ 0-4 ปี ทั้งชายและหญิง สาเหตุหลักของความสูญเสียปี สุขภาวะของกลุ่มอายุ 15-29 ปี ได้แก่ อุบัติเหตุ โรคทางจิตเวช และโรคเอชไอวี/เอดส์ ซึ่งทั้งสามกลุ่มโรคนี้ครอบคลุมความสูญเสียปีสุขภาวะในเพศชายร้อยละ 75 และในเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 61 ของความสูญเสียทั้งหมด สาเหตุหลักของความสูญเสียปีสุขภาวะของกลุ่มอายุ 15-29 ปี ทั้งชายและหญิงคือโรคเอชไอวี/เอดส์ เพศชายอันดับรองลงมาคือ อุบัติเหตุทางถนน การเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และมะเร็งตับ สำหรับเพศหญิง สาเหตุของความสูญเสียอันดับรองลงมาคือ โรคซึมเศร้า โรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดสมอง สำหรับประชาชนไทยกลุ่มอายุ 60 ปี ขึ้นไป โรคที่เป็นสาเหตุของความสูญเสียสองอันดับแรกในชายคือ โรคหลอดเลือดสมองและภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง ส่วนเพศหญิง คือ โรคหลอดเลือดสมองและโรคเบาหวาน