บทคัดย่อ
จากสาธารณสุขมูลฐานสู่สุขภาพชุมชน: ข้อเสนอสำหรับผู้กำหนดนโยบายและทีมสุขภาพชุมชน
การสาธารณสุขมูลฐานเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง หลังคำประกาศ Alma Ata ในปี ค.ศ.1978 โดยมีเป้าหมายคือ ประชาชนทุกคนมีสุขภาพดีถ้วนหน้าในปี ค.ศ.2000 (Health for All
by the year 2000) สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้เป็นผู้นำในการดำเนินงานตามแนวคิดการสาธารณสุขมูลฐานอย่างกระตือรือร้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษแรกหลังคำประกาศ Alma Ata และเป็นทศวรรษที่บุคลากรสาธารณสุขเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนในชนบทอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมาสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีการปฏิรูปในหลายส่วนของระบบสุขภาพ บทบาทบุคลากรสาธารณสุขได้เปลี่ยนแปลงไป ด้วยภาระงานด้านบริการที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้บทบาทการทำงานในชุมชนลดลงเหลือเพียงการจัดบริการพื้นฐานที่จำเป็น
ในโอกาสครบสามทศวรรษการดำเนินงานตามแนวคิดการสาธารณสุขมูลฐานในประเทศไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ร่วมกับองค์กรภาคีต่างๆ จึงได้ใช้โอกาสนี้ทบทวนประสบการณ์
การดำเนินงานที่ผ่านมา และพัฒนาข้อเสนอสำหรับการดำเนินงานในทศวรรษต่อไป ทั้งนี้โดยมอบหมายนักวิชาการไปทบทวนความรู้ในประเด็นที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) บริการปฐมภูมิ (Primary Care และ Primary Health Care): ที่มา การใช้ และความหมาย โดย นพ.ดร.ยงยุทธ พงษ์สุภาพ 2) ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิภายใต้กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.ดร.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์
และคณะ1 และ 3) ข้อเสนอการดำเนินงานทศวรรษที่สี่ของการสาธารณสุขมูลฐานไทย โดย รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง และท.ญ.ศุภลักษณ์ เลิศมโนรัตน์ นอกจากนี้ สวรส. ยังได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นอีก 1 คณะ เพื่อพิจารณาข้อมูลและแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ ที่ได้จากการทบทวนเอกสารทั้งหมด หลังจากนั้นได้พัฒนาข้อเสนอจำนวนหนึ่งขึ้น เพื่อผู้กำหนดนโยบายและบุคลากรที่ปฏิบัติงานสาธารณสุขในชุมชน (ในที่นี้เรียก “ทีมสุขภาพชุมชน”) ได้ใช้พิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจหรือประกอบแนวปฏิบัติต่อไปเอกสารฉบับนี้ได้รวบรวมข้อมูล ประเด็นต่างๆ และสรุปข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น แม้ว่าข้อเสนอนี้จะยังไม่ครอบคลุมในทุกประเด็น แต่หวังว่าเอกสารนี้จะช่วยกระตุ้นให้มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวางในโอกาสต่อไป