บทคัดย่อ
การศึกษาสรุปบทเรียน ติดตามผลการถ่ายโอนสถานีอนามัยไปองค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้ความเข้าใจ กระบวนการการจัดตั้งกลไก และการดำเนินงานถ่ายโอนที่เกิดขึ้นจริง เทียบกับหลักการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขสำคัญที่มีการกำหนดไว้ รวมทั้งติดตามผลผลิต ผลที่ได้และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการถ่ายโอนฯ เพื่อวิเคราะห์และสรุปบทเรียนที่ได้รับจากการถ่ายโอน โดยเปรียบเทียบความคาดหวังกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กลไก โครงสร้าง เงื่อนไข และองค์ประกอบการถ่ายโอนฯ พื้นที่ตำบลวังแขม อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องที่ทำการถ่ายโอนสถานีอนามัยมาอยู่ในการดูแล การศึกษาในครั้งนี้ใช้วิธีการที่หลากหลาย (Multi-instrumental Methods) ด้วยการผสมผสานการศึกษาเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ (Quantitative and Qualitative Study) เพื่อใช้เป็นกระบวนการในการตอบคำถามให้ครอบคลุมทุกประเด็นและถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งได้ผลการศึกษาดังนี้ คือ การดำเนินการถ่ายโอนภารกิจงานด้านสาธารณสุขให้มาอยู่ในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นไปตามพรบ. กำหนดแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจให้กับ อบต. ปี 2542 บัญญัติขึ้นตามกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีการกำหนดให้ท้องถิ่นเป็นผู้มีส่วนในการจัดการด้านสาธารณสุขของชุมชน ซึ่งก่อนที่จะมีการถ่ายโอนสถานีอนามัย ก่อนที่จะมีการถ่ายโอนภารกิจมาให้อบต. ดูแลได้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่ในเขตรับผิดชอบถึงต้องการที่จะให้ทางอบต. เป็นผู้ที่จะดูแลงานในส่วนของสถานีอนามัยหรือไม่ ซึ่งจากการออกแบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ อยากที่จะให้ทางสถานีสถานีอนามัยที่ถ่ายโอนเข้ามาอยู่กับทางอบต. เพื่อที่จะให้ทางอบต. ปรับปรุงด้านสถานที่สำหรับให้การบริการด้านงบประมาณ เมื่อโอนงานมาอยู่กับอปท. จากการศึกษาพบว่า การทำงานร่วมกันระหว่างอบต. และสถานีอนามัยมีแนวโน้มไปในทางที่ดี เพราะต่างฝ่ายก็ต่างมีการเรียนรู้งานซึ่งกันและกัน มีการแลกเปลี่ยนและนำเสนอผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยในที่ประชุมสภาของอบต. ทุกเดือน ซึ่งจะส่งผลให้การทำงานในระดับพื้นที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นสามารถแก้ปัญหาการเสริมสร้างสุขภาพได้ตรงจุด สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่จากการติดตามศึกษาและถอดบทเรียนของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย เห็นสมควรมีการถ่ายโอนงานด้านสาธารณสุขมาให้กับองค์กรส่วนท้องถิ่นดูแล เพราะท้องถิ่นมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ทั้งงบประมาณ โครงสร้าง และการวางแผนงานเพื่อรองรับการบริการประชาชนในพื้นที่ทางด้านสาธารณสุข แต่ต้องมีการประเมินผลและติดตามเป็นระยะและควรที่จะสร้างเกณฑ์ในการประเมินให้เป็นมาตรฐาน เพื่อรักษาคุณภาพในการให้บริการประชาชน และเป็นการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาของการดำเนินงานด้านสาธารณสุขของท้องถิ่นที่รับการถ่ายโอน สำหรับพื้นที่ อบต. วังแขมที่รับการถ่ายโอนสถานีอนามัยบ่อทองนั้น พบว่าผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยมีความตั้งใจจริงในการที่จะรับภารกิจงานด้านสาธารณสุขไปดูแล โดยมีการเตรียมพร้อมเพื่อจะดำเนินการตามพรบ. การกระจายอำนาจมีการศึกษาข้อมูลและเตรียมการรองรับ ทั้งในส่วนของโครงสร้าง งบประมาณ และแผนการดำเนินงานที่จะดำเนินการในอนาคต อีกทั้งยังมีประสบการณ์ในการรับการถ่ายโอนเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทานมาก่อนหน้าที่จะมีการถ่ายโอนสถานีอนามัยมาอยู่กับ อบต. จุดด้อยของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ เห็นว่ามีความไม่ชัดเจนในช่วงแรก โดยเฉพาะการสื่อสาร การประสานงานระหว่างส่วนกลางลงมาในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น ซึ่งส่งผลให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยส่วนใหญ่มีความลังเลไม่กล้าที่จะถ่ายโอนมาอยู่กับท้องถิ่น ควรมีการศึกษาและทำความเข้าใจให้ตรงกันทั้งในระดับกระทรวง และในหน่วยงานระดับพื้นที่ และในระดับบุคลากรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุภารกิจงานของการกระจายอำนาจ คงจะใช้เวลาสักประมาณ 1 - 2 ปีข้างหน้าเพื่อที่จะให้เข้าระบบมากขึ้น ทั้งนี้สังคมไทยจะต้องปรับเปลี่ยนความคิดเปลี่ยนระบบการทำงานโดยเฉพาะงานสาธารณสุข ที่ต้องดูแลเกี่ยวกับสุขภาพจะให้ส่วนกลางดูแลคงไม่ทั่วถึง และไม่ทันสถานการณ์จำเป็นต้องกระจายให้กับหน่วยงานอื่นเข้ามามีส่วนร่วม