บทคัดย่อ
โครงการศึกษา สรุปบทเรียนและติดตามผลการพัฒนาระบบการถ่ายโอนสถานีอนามัยไปยังองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กรณีศึกษา : การถ่ายโอนสถานีอนามัยนาตำบลบ้านฆ้อง ตำบลบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นกรณีหนึ่งในโครงการศึกษา การถ่ายโอนสถานีอนามัย 22 แห่ง ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่ ดังรายละเอียดของโครงการศึกษาฯ คณะผู้ศึกษา ได้นำหลักการกระบวนการ ไปเป็นตัวกำกับในการลงพื้นที่ มาตั้งแต่ เริ่มปฏิบัติการเมื่อเดือนธันวาคม 2550 จนถึงกลางเดือนสิงหาคม 2551โดยใช้กระบวนการศึกษาทั้งแบบสอบถามเชิงปริมาณและการศึกษาเชิงคุณภาพ สรุปสาระสำคัญผลการศึกษาที่เกิดขึ้นดังนี้
จากการสำรวจแบบสอบถามประชาชนในพื้นที่สถานีอนามัยบ้านฆ้อง พบว่า ในกระบวนการดำเนินงานการถ่ายโอนสถานีอนามัย ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับทราบข่าวเรื่องการถ่ายโอน โดยทราบข่าวการถ่ายโอนผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) และส่วนใหญ่ขาดการมีส่วนร่วมทั้งก่อนและหลังการถ่ายโอน โดยไม่ได้รับทราบข้อมูลและแสดงความเห็น ผลที่เกิดขึ้น ในการให้บริการดูแลสุขภาพของประชาชนเปรียบเทียบก่อนและหลังการถ่ายโอน ในประเด็นต่างๆ อาทิ ด้านมาตรฐานของสถานีอนามัย การบริการด้านสาธารณสุขพบว่า หลังการถ่ายโอน เกิดผลในระดับที่ดีมาก ในส่วนด้านการมีส่วนร่วม การวางแผนด้านสุขภาพของท้องถิ่นเปรียบเทียบก่อนและหลังการถ่ายโอนยังไม่เกิดผลดีมากนัก
การถ่ายโอนครั้งนี้ได้ผ่านกระบวนการภายใต้หลักการ คณะกรรมการ และวิธีการตามนโยบายและมติร่วมของกระทรวงสาธารณสุขและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ความรวดเร็วของการรับข้อมูลข่าวสาร ความเข้มข้นของการปรึกษาหารือ การประชุม มีความถี่ ความครบถ้วนต่างกัน นอกจากนี้ วัฒนธรรมของการทำงานแต่ละแห่ง ซึ่งเคยชินมาตลอดจน ทัศนคติและ บุคลิกภาพของแต่ละหน่วยงาน แต่ละคน มีความต่างกัน (Working Culture And Individual Differences)ทำให้เกิดความไม่สมบูรณ์ของการรับรู้ กระบวนการและรายละเอียดในการบริหารจัดการต่างๆ
ประชาชนและอสม. ที่คณะผู้ศึกษาได้พบปะพูดคุยทั้งที่พบระหว่างมาขอรับบริการ ร่วมประชุม พบว่าสถานีอนามัยได้รับความร่วมมือจากประชาชนดี ประชาชนเห็นว่า การมาขอรับบริการจากสถานีอนามัยภายในชุมชนสะดวกเพราะว่าใกล้ ประหยัดค่าใช้จ่ายและเห็นความเต็มใจในการให้บริการของสถานีอนามัยอย่างไรก็ตาม การที่สถานีอนามัยสังกัดหน่วยงานใดนั้น อาจไม่สำคัญเท่ากับ การมาใช้บริการ สะดวก รวดเร็ว ประหยัด มีบริการเพิ่ม และอัธยาศัยไมตรีของเจ้าหน้าที่
อนึ่งประชาชนยังไม่รับรู้และมีส่วนร่วมในหลักการ กระบวนการถ่ายโอนครั้งนี้อย่างเข้มข้นและทั่วถึง การกระจายข่าวสารเรื่องดังกล่าว ในระดับชุมชน มีข้อจำกัด เช่นรู้กันในกลุ่มอสม.และผู้นำที่เกี่ยวข้องโดยตรง
จากกระบวนการศึกษา พบปะ ผู้เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายบริหาร ปฏิบัติการ สมาชิก ในที่ประชุม และการพูดคุย ได้ข้อสรุปว่า การถ่ายโอนเป็นเรื่องจำเป็นและถูกต้อง ที่จะตอบสนอง ประชาธิปไตยของท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการมีส่วนร่วม หากแต่ ส่วนกลาง มีนโยบายที่ชัดเจน ไม่เร่งรัด และ ให้ความสำคัญต่อการสื่อสารอย่างรัดกุม (Communication Process) ทุกขั้นตอน สมควรที่จะใช้ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ (Formal - Informal Process)
กระบวนการคิดด้านนโยบายและกระบวนการถ่ายโอนของประเทศในเรื่องนี้ จำเป็น เหมาะสมกับสถานการณ์ของสังคมโลกและสังคมประเทศปัจจุบัน ผ่านการทบทวน ศึกษา แบบแผนตัวอย่างมาเพียงพอที่จะริเริ่มต่อไป
กรณีศึกษาครั้งนี้ จึงสามารถเป็นบทเรียนให้การคิด ปฏิบัติการ การถ่ายโอนสำหรับงานสาธารณสุข หรืองานอื่นๆในทั้งระดับท้องถิ่น จังหวัด หรือประเทศ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ ฯ