บทคัดย่อ
กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ริเริ่มพัฒนางานติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยามาตั้งแต่ พ.ศ. 2526 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะรวบรวมและวิเตราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและอันตรายจากการใช้ยาที่เกิดขึ้นในประเทศ บทความนี้กล่าวถึงความเป็นมา และสถานการณ์ในปัจจุบันของกิจกรรมดังกล่าว ประมวลรายงานที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับ ตลอดจนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
นอกจากศูนย์ติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาในส่วนกลางแล้ว ได้ขยายออกสู่ส่วนภูมิภาคโดยใน พ.ศ. 2535 จัดตั้งศูนย์เครือข่ายขึ้นในโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 22 แห่งทั่วประเทศ ทำหน้าที่ติดตามอาการข้างเคียงจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพทุกชนิด ทั้งนี้ใช้ระบบ Voluntary Spontaneous Reporting System (SRS) และ Safety Monitoring Program (SMP) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จำนวนรายงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใน พ.ศ. 2541-2542 พบว่า sulfamethoxazole+trimethoprim เป็นตัวยาที่มีการรายงานมากที่สุด ในขณะที่กลุ่มยาที่ทำให้เกิดปัญหามากที่สุด ได้แก่ กลุ่ม systemic general antiinfective และส่วนใหญ่เป็นอาการที่เกิดกับผิวหนัง
จากการทบทวนงานวิจัยในประเทศ พบว่า อุบัติการณ์ของอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาอยู่ระหว่างร้อยละ 1.7 ถึง 22.6 ซึ่งขึ้นกับหลายปัจจัย ได้แก่ วิธีการศึกษา ลักษณะกลุ่มตัวอย่าง การจัดกลุ่มบริการของโรงพยาบาล วิธีติดตามประเมินอาการ และนิยามที่ใช้ อาการไม่พึงประสงค์เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาจากการใช้ยาที่ทำให้ผู้ป่วยต้องกลับมาโรงพยาบาล โดยพบอุบัติการณ์ร้อยละ 6.4 ถึง 23.5 นอกจากนี้ ยังเป็นเหตุให้ระยะเวลาที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลยาวนานขึ้น และค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งแบบรายงานอาการและงานวิจัยจะช่วยในการพิสูจน์อันตรายจากการใช้ยาให้แน่ชัดยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจทางกฎหมาย การตัดสินใจเลือกยา และลำดับความสำคัญของปัญหาจากการใช้ยาแต่ละชนิดเพื่อเฝ้าระวังควบคุมอย่างไกล้ชิด