บทคัดย่อ
เนื้อหาหลักของเอกสารประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นการทบทวนแก่นสาระของสาธารณสุขมูลฐาน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนว่า โดยประวัติศาสตร์ความเป็นมาแล้ว แนวคิดของสาธารณสุขมูลฐานเปรียบได้กับคำอธิบายว่าด้วยอริยสัจของสุขภาพ แนวคิดเบื้องหลังก็ดี หรือที่อธิบายถึงลักษณะสำคัญหรือองค์ประกอบของสาธารณสุขมูลฐานก็ดี หากพิจารณาหรือตีความอย่างถูกต้อง ชัดเจน จะพบว่าแนวคิดสาธารณสุขมูลฐาน ไม่ใช่แนวคิดการพัฒนาสุขภาพที่ถูกค้นพบใหม่ หรือในทางตรงกันข้ามเป็นแนวคิดที่คงทนต่อการพิสูจน์ของกาลเวลา และไม่มีวันที่จะสูญหาย ตราบเท่าที่มนุษย์ยังต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยและตราบใดที่มนุษย์ยังไม่สามารถสร้างสังคมที่เป็นธรรมและสังคมที่ไม่เป็นตัวผลิตความเจ็บป่วยได้ เนื้อหาส่วนที่สองจะกล่าวถึงพัฒนาการของสาธารณสุขมูลฐานในประเทศไทย เจตนาเพื่อวิเคราะห์ให้เห็นว่า สาธารณสุขมูลฐานไทย หากพิจารณาผ่านการดำรงอยู่ของแก่นสาระทางความคิด (ความเป็นธรรม การพึ่งตนเอง ความพอเพียง การพัฒนาแบบองค์รวม ฯลฯ) สาธารณสุขมูลฐานในประเทศไทยในฐานะจิตวิญญาณ การพัฒนาสุขภาพได้มีการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงรูปแบบตามเงื่อนไขทางนโยบายและการเมือง เศรษฐกิจในแต่ละยุค แต่ไม่เคยสูญหาย หากแต่แปรรูปและเปลี่ยนไปตามบริบทหรือภพภูมิ การเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็วของงานสาธารณสุขมูลฐานภายใต้นโยบาย แผนงาน/โครงการของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงทศวรรษแรก ที่ติดตามด้วยการลดส่วน หดแคบลง จนมีภาพเพียงการมีอยู่ของกลุ่มอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน อสม. กระจายอยู่ในหมู่บ้านทั่วประเทศ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับหรือต่อเนื่องด้วยการพัฒนาสุขภาพในบริบทหรือพื้นที่อื่น การก่อตัวและขยายพื้นที่อย่างรวดเร็วของกลุ่มหรือเครือข่ายการสร้างเสริมสุขภาพและการขับเคลื่อนอย่างมีพลังของกลุ่มประชาคม สมัชชา องค์กรท้องถิ่น และเครือข่ายจิตอาสาต่างๆ ในการจัดการแก้ไขปัญหาสุขภาพ ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น และระดับชาติ จนเกิดเป็นพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ปี 2550 เป็นปรากฏการณ์ที่เอกสารนี้สรุปว่า การสาธารณสุขมูลฐานในประเทศไทย ได้เติบโต ขยายวงกว้างขวางขึ้น ภายใต้พื้นที่หรือภพภูมิใหม่ทางสังคม ที่ไม่ได้จำกัดอยู่ภายใต้บริบทการทำงานหรืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข และมิได้ต้องผูกโยงด้วยชื่อการค้าว่า สาธารณสุขมูลฐาน เนื้อหาส่วนที่สาม บนพื้นฐานการวิเคราะห์และทบทวนข้างต้น เอกสารนี้ได้นำเสนอข้อพิจารณาถึงฐานะของสาธารณสุขมูลฐานไทยในทศวรรษที่ 4 ว่า ประการที่หนึ่ง ในการเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาและความท้าทายทางสุขภาพในปัจจุบันและอนาคต มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพลิกฟื้น ทบทวน เน้นย้ำ ความสำคัญของสาธารณสุขมูลฐาน ในฐานะทฤษฎีแม่บทหรือกระบวนทัศน์หลักในการกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพโดยรวมของประเทศ ประการที่สอง ในบริบทที่สภาพปัญหา พื้นที่ และตัวการในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพของประเทศในปัจจุบันและในอนาคต ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างมาก ตัวกระทำหลักในอดีตและปัจจุบัน คือ กระทรวงสาธารณสุข บุคลากร/วิชาชีพทางการแพทย์ และหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข กลายฐานะเป็นตัวกระทำร่วมหรือกระทำรอง ขณะที่บทบาทและการมีส่วนร่วมของตัวกระทำอื่นๆ กลับมีมากและหลากหลายขึ้น ทั้งระดับชาติ ท้องถิ่น ทั้งที่เป็นการขับเคลื่อนขององค์กร กลุ่มปัจเจกที่มีจิตอาสา ทั้งที่เป็นกลุ่มย่อยและเป็นเครือข่าย ฯลฯ และโดยพื้นที่การขับเคลื่อนไม่ได้จำกัดในพื้นที่สาธารณสุขหรือเริ่มต้นด้วยการแก้ปัญหาความเจ็บป่วย หากแต่เป็นเรื่องการทำมาหากิน สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ศาสนาและศีลธรรม สื่อสาธารณะ ธุรกิจการค้า การเมืองภาคประชาชน ฯลฯ โดยนัยยะนี้สาธารณสุขมูลฐานในบริบทของทศวรรษใหม่ ในฐานะอุดมการณ์หรือกระบวนทัศน์แม่บทของการพัฒนาระบบสุขภาพ จึงต้องอาศัยการมองด้วยกรอบวิธีคิดที่กว้างขึ้นกว่าเดิม