บทคัดย่อ
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ทำให้มีอุปสรรคในการดูแลผู้สูงอายุตามวัฒนธรรมไทยที่เคยปฏิบัติมาในอดีต อย่างไรก็ตามบางชุมชนและบางครอบครัวยังสามารถให้การดูแลผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี การค้นหาและศึกษากลวิธีที่ทำให้ชุมชนและครอบครัวต้นแบบยังสามารถรับบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุได้ดีจึงเป็นประโยชน์ในการวางแผนการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ การศึกษาตัวแบบการดูแลผู้สูงอายุที่ดีของครอบครัวและชุมชน ในชุมชนเขตเมืองและกรุงเทพมหานคร เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนรูปแบบการดูแลระยะยาวของครอบครัวและชุมชนที่ได้รับการพิจารณาว่าดีและศึกษากลวิธีการจัดการในครอบครัวและชุมชน การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างทั้งชุมชนและครอบครัวใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้สูงอายุเป็นผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระดับ 3 หรือ 4 ในการศึกษาครั้งนี้ได้ถอดบทเรียนการดูแลผู้สูงอายุที่ดีจากชุมชน 2 แห่งคือ ชุมชนล็อค 4-5-6 เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร และชุมชน 30 กันยาพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และในแต่ละชุมชน ที่เลือกได้ศึกษาครอบครัวเชิงลึกชุมชนละ 2 ครอบครัวรวม 4 ครอบครัว ผู้สูงอายุที่ศึกษาเป็นหญิง 3 ราย ชาย 1 ราย อายุ 60-82 ปี เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ 2 ราย โรคหลอดเลือดสมองแตก 2 ราย ต้องได้รับความช่วยเหลือในการทำกิจกรรมประจำวันค่อนข้างมากหรือทั้งหมด สำหรับผู้ดูแลเป็นหญิง 2 ราย ชาย 2 ราย อายุ 25-72 ปี ความสัมพันธ์กับผู้สูงอายุ เป็นลูก 2 ราย เป็นสามี 1 รายและเป็นพี่สาว 1 ราย มีผู้ดูแลรับจ้างมาช่วย 2 ราย การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีการศึกษาเอกสารเพื่อกำหนดเกณฑ์ ในการคัดเลือกตัวแบบการดูแลผู้สูงอายุที่ดี การสัมภาษณ์ระดับลึก และการสนทนากลุ่มกับผู้สูงอายุ ผู้ดูแลและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งการสังเกตกิจกรรมการดูแลในสถานการณ์จริง การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นการถอดบทเรียนจากข้อมูลที่รวบรวมได้ การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และการวิเคราะห์สรุปประเด็น (Thematic Analysis) ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้ ผลการวิเคราะห์ตัวแบบการดูแลผู้สูงอายุที่ดีของชุมชน ผลการถอดบทเรียนจาก 2 ชุมชนพบว่า ปัจจัยที่ส่งเสริมให้ชุมชนเขตเมืองมีการดูแลผู้สูงอายุที่ดี คือ การมีชุมชนที่เข้มแข็ง การมีระบบสนับสนุนที่ดี การมีทุนทางสังคม การตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ การบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การบูรณาการบทบาทในชุมชน และการมีฐานข้อมูลผู้สูงอายุในชุมชน ผลการวิเคราะห์ตัวแบบจึงสรุปเป็นตัวชี้วัดการดูแลผู้สูงอายุที่ดีของชุมชนเขตเมือง ดังนี้ ตัวชี้วัดการดูแลผู้สูงอายุที่ดีของชุมชน 1. การมีชุมชนที่เข้มแข็ง 1.1. ผู้นำเข้มแข็งและมีผู้สูงอายุต้นแบบ 1.2. ความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชน 1.3. การทำงานเป็นทีม 2. การมีระบบสนับสนุนที่ดีทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ 2.1. ระบบสนับสนุนจากภาครัฐ 2.2. ระบบสนับสนุนจากภาคเอกชนและอาสาสมัคร 3. การมีทุนทางสังคม 3.1. การใช้แหล่งประโยชน์หลากหลาย 3.2. ค่านิยมและวัฒนธรรมไทยเข้มแข็ง 3.3. ความกลมกลืนทางศาสนา 4. การตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ 4.1. การประหยัดค่าใช้จ่าย 4.2. การแก้ปัญหาการเดินทางของผู้สูงอายุ 5. การบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ 5.1. การให้บริการที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยต้นทุนที่ต่ำ 5.2. การใช้สถานที่ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า 6. การบูรณาการบทบาทในชุมชน 6.1. การเป็นกรรมการหลายชุด (สวมหมวกหลายใบ) 6.2. เป็นทั้งแหล่งให้บริการและแหล่งเรียนรู้ 7. การมีฐานข้อมูลผู้สูงอายุในชุมชน ผลการวิเคราะห์ตัวแบบการดูแลผู้สูงอายุที่ดีของครอบครัว และข้อเสนอแนะในการวิจัย คือ 1. ศึกษาสถานการณ์การดูแลผู้สูงอายุในชุมชนเมืองแบบหมู่บ้านจัดสรร 2. ศึกษาความเป็นไปได้ และแนวทางในการพัฒนาระบบบริการดูแลทดแทนชั่วคราว (Respite Care) และระบบบริการดูแลระยะออกจากโรงพยาบาลก่อนกลับบ้าน (Intermediate Care)