บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินแนวโน้มการใช้ยาในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ก่อนและหลังการเบิกจ่ายตรงของสวัสดิการข้าราชการ (เริ่มปีงบประมาณ 2550) โดยเก็บข้อมูลจากใบสั่งยาผู้ป่วยนอกจากฐานข้อมูลอิเลกทรอนิกส์ในปีงบประมาณ 2548-2550 ประมวลผลใน 3 ลักษณะ คือ 1) วิเคราะห์หามูลค่ายาเฉลี่ยต่อเดือนที่ผู้ป่วยได้รับเปรียบเทียบระหว่างสิทธิการประกันที่แตกต่างกัน (หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และข้าราชการ) และสัดส่วนการใช้ยาในบัญชียาหลักและยานอกบัญชียาหลัก 2) คัดเลือกกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยาละไขมันกลุ่มสแตติน และเปรียบเทียบลักษณะการใช้ยาว่าเพิ่มขึ้นจากปัจจัยปริมาณการใช้ยาหรือราคายา และ 3) ศึกษาผู้ป่วยที่มีมูลค่าการใช้ยาสูงผิดปกติ ผลการศึกษาพบว่ามูลค่ายาที่ข้าราชการและครอบครัวได้รับต่อเดือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งก่อนและหลังการเบิกจ่ายตรง ซึ่งต่างจากผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและประกันสังคมที่มีการเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยในปี 2548 ข้าราชการใช้ยาคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.77 เท่าของผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (17,614 และ 9,975 บาทต่อคนต่อปีตามลำดับ) แต่ในปี 2550 มูลค่าการใช้ยาของข้าราชการมีค่า 2.35 เท่าของผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (26,193 และ 11,156 บาทตามลำดับ) แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนการใช้ยาในบัญชียาหลักและนอกบัญชียาหลัก พบว่าแนวโน้มต่างกัน ผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีแนวโน้มที่จะใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติมากขึ้น (จากร้อยละ 71.9 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 74.4 ในปี 2550) ส่วนผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการมีแนวโน้มที่จะได้รับยานอกบัญชียาหลักเพิ่มมากขึ้น ในแต่ละปีข้าราชการใช้ยานอกบัญชียาหลักร้อยละ 45.9 ในปี 2548 และเพิ่มเป็นร้อยละ 56.3 ในสองปีต่อมามีการใช้ยาลดไขมันกลุ่มสแตตินมากขึ้น และมีสัดส่วนการใช้ยาชื่อการค้าเพิ่มมากขึ้นในเวลาสองปี แต่ยาสามัญลดราคาลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2548 มีการใช้ยาสามัญร้อยละ 65.8 ของปริมาณการใช้ทั้งหมดและคิดเป็นมูลค่าร้อยละ 15.5 ของยาที่ใช้ทั้งหมด ในปี 2550 การใช้ยาสามัญกลุ่มสแตตินลดลงเหลือร้อยละ 61.3 ของปริมาณการใช้ แต่คิดเป็นเพียง 6.3 ของมูลค่าการใช้ทั้งหมด และเมื่อเทียบกับผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการมีโอกาสได้รับยาชื่อการค้ามากกว่ายาสามัญ สำหรับตัวอย่างผู้ป่วยที่ได้รับยาเป็นมูลค่าสูง มีตัวอย่างผู้ป่วยหนึ่งรายที่มีประวัติได้รับยาลดไขมัน atorvastatin 40 mg จำนวน 1,880 เม็ดในเวลาสามปี และยังได้รับยาอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่จำเป็นต้องใช้ ซี่งแสดงว่าระบบการตรวจนสอบการใช้ยายังไม่มีประสิทธิภาพ จากการศึกษาสรุปว่า ข้าราชการมีมูลค่าการใช้ยาสูงกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ และเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งก่อนและหลังการเบิกจ่ายตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการใช้ยานอกบัญชียาหลักมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ระบบการตรวจสอบการใช้ยายังขาดประสิทธิภาพ ทำให้มีผู้ป่วยได้รับยามากเกินความจำเป็นได้ ดังนั้นผู้บริหารและผู้ที่มีหน้าที่ดูแลงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาจึงต้องหามาตรการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านยาที่เกินจำเป็นเหล่านี้ เพื่อให้การใช้ทรัพยากรสุขภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้นและยังคงคุณภาพงานบริการ