บทคัดย่อ
รายงานชิ้นนี้ มุ่งประเมินการทำงานของ CRCN โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. เปรียบเทียบผลผลิตและผลลัพธ์(outputs & outcomes) ของงาน CRCN กับข้อผูกพันตามสัญญารับทุน (accountability) ตลอดจนอธิบายที่มาที่ไปของความคลาดเคลื่อนที่อาจค้นพบ 2. ค้นหาความเชื่อมโยงระหว่างผลกระทบทั้งทางบวกและลบโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบทางสังคม (social impacts) ที่น่าจะเกิดจากผลการทำงานของ CRCN 3. วิเคราะห์สมรรถนะการดำเนินงานของ CRCN (performance) โดยเปรียบเทียบระหว่างผลผลิตและผลลัพธ์กับทรัพยากรที่ใช้ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงสมรรถนะขององค์กรวิชาการอื่นที่ใกล้เคียง เช่น HITAP, IHPP เป็นต้น และคาดว่าผลการประเมินจะนำไปสู่ 1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนงานทางคลินิกบนฐานความรู้ 2. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อ CRCN เกี่ยวกับแนวทางการใช้โอกาสพัฒนางานของตนในอนาคต ขอบเขตของการประเมินผล ครอบคลุม ผลผลิต ผลลัพธ์ กิจกรรมและปัจจัยนำเข้าของทุกหน่วยในเครือข่าย CRCN นับแต่เริ่มดำเนินการจนถึง 30 กันยายน 2552 โดยอาศัยรูปแบบการประเมินผลแบบมีส่วนร่วม (Empowerment evaluation) รายงานนี้ได้รวบรวมหลักฐานจาก 3 แหล่งได้แก่ การสืบค้นและทบทวนวรรณกรรม การสำรวจด้วยแบบสอบถาม การสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่ม เพื่อตรวจสอบ (triangulate) และซ่อมเสริม (complementary) ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ ประชากรเป้าหมายได้แก่ 1. หัวหน้าโครงการวิจัย และผู้บริหารหน่วยต้นสังกัดของหัวหน้าโครงการวิจัย แต่ละหน่วยงานในเครือข่ายฯ และผู้มีส่วนร่วมอื่นๆ 2. แหล่งทุนวิจัย ได้แก่ ผู้บริหารสูงสุดและผู้บริหารที่ติดต่อตรงกับเครือข่ายฯ 3. บุคคลในโครงสร้างการบริหารจัดการของเครือข่ายฯ 4. แพทย์และพยาบาลที่ปฏิบัติงานทางคลินิก ผู้เป็นกลุ่มเป้าหมายของงานวิจัย (เช่น อายุรแพทย์และพยาบาลหน่วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวกลุ่มมัยอีลอยด์ชนิดเฉียบพลันของโรงพยาบาลศูนย์) 5. หน่วยงานนโยบายสุขภาพ เช่น สปสช. กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม คณะกรรมการอาหารและยา สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข โดยเลือกผู้บริหารสูงสุดและผู้บริหารระดับรองลงมาที่รับผิดชอบตรงกับเรื่องนั้นๆ ทุกคน การประเมินได้ข้อค้นพบที่สำคัญ ปรากฏดังต่อไปนี้ 1.CRCN จัดตั้งด้วยวิสัยทัศน์ พันธกิจที่สอดคล้องกับความต้องการงานวิจัยคลินิกสหสถาบันของประเทศไทย โดยที่เนื้อหาส่วนใหญ่ของพันธกิจมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพการวิจัย ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงสัญญากับแหล่งทุนในระดับหนึ่ง แต่ยังให้น้ำหนักน้อยกับการมุ่งเน้นให้ได้ผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์สุขภาพที่สำคัญของประเทศ 2. CRCN ดำเนินการได้สอดคล้องกับพันธกิจในด้านพัฒนาศักยภาพการวิจัยคลินิกแบบสหสถาบัน โดยเป็นการวิจัยเชิงสังเกต (observational study/disease registry) เกือบทั้งสิ้นและเป็นการวิจัยที่สามารถระดมคนไข้ได้เป็นจำนวนมากอย่างโดดเด่นกว่างานวิจัยคลินิกสหสถาบันอื่นๆ ในประเทศไทยเท่าที่เคยมีมา 3. ผลผลิตอันเกิดจากการดำเนินงานของ CRCN ได้แก่ รายงานวิจัย 68 ชิ้น โดย 7 ชิ้นได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นานาชาติ บ่งชี้คุณภาพการวิจัยระดับสากล งานวิจัยอย่างน้อย 3กลุ่มถูกนำไปใช้ในระดับนโยบายชัดเจน ได้แก่ งานวิจัยด้านวิสัญญี มะเร็งในเด็กและด้านโรคหัวใจจนอาจจะนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพหลักสูตรการสวนหัวใจทั่วประเทศ การลงทุนในโครงการค่าใช้จ่ายสูงของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและการเพิ่มจำนวนการผลิตวิสัญญีแพทย์/วิสัญญีพยาบาลและมีงานวิจัยส่วนหนึ่งได้รับการนำไปใช้ระดับปฏิบัติ เช่น ด้านวิสัญญี โรคไซนัสอักเสบ เป็นต้น เมื่อเทียบกับหน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ซึ่งมีบทบาทเกี่ยวข้องกับสนับสนุนการวิจัยทางคลินิก CRCN น่าจะอยู่ในฐานะช่วยยกระดับคุณภาพการทำงานขององค์กรเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตาม ปริมาณและคุณภาพผลผลิตของ CRCN ยังจำกัดกว่าขององค์กรต่างประเทศที่นำมาเปรียบเทียบอย่างมาก และการเชื่อมโยงผลวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ก็ยังจำกัดกว่า HITAP 4. การดำเนินงานของ CRCN ก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมในสี่รูปแบบได้แก่ 4.1 ทุนเศรษฐกิจ (ระดมทุนวิจัยสะสมได้ 68 ล้านบาท จากแหล่งทุนภาครัฐและเอกชน โดยมีการร่วมทุนระหว่างสถาบันสังกัดของนักวิจัยและแหล่งทุนสมเจตนารมณ์ของ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ) 4.2 ทุนวัฒนธรรม (รายงานวิจัย 68 ชิ้น สื่อการเรียนรู้ด้านการวิจัย หน่วยวิจัยใหม่ 729 หน่วย หน่วยประสานงานวิจัยยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัย แนวทางเวชปฏิบัติ และข้อตกลงจัดสรรประโยชน์ของผลงานวิจัยในหมู่นักวิจัยชัดเจน) 4.3 ทุนสังคม (เครือข่ายวิจัย 26 กลุ่มโรค ครอบคลุมนักวิจัยกว่า 300 คน) 4.4 ทุนสัญลักษณ์ ที่สำคัญ คือ ต้นแบบระบบประกันคุณภาพ/ระบบพี่เลี้ยงการวิจัยคลินิกสหสถาบัน ซึ่งมีความหมายมากสำหรับโรงเรียนแพทย์ที่เกิดใหม่และโรงพยาบาลใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข 5. ผลผลิตและผลกระทบดังกล่าว สอดคล้องกับพันธสัญญาที่ CRCN ได้ให้ไว้ต่อแหล่งทุนสาธารณะ (ที่เป็นหลัก ได้แก่ สวรส. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. และร๊อกกีเฟลเลอร์) อย่างเด่นชัดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ แม้ว่ายังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการแสดงให้เห็นการนำไปใช้ประโยชน์ดังกล่าวแล้วก็ตาม อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการสืบสานการพัฒนาและใช้ศักยภาพการวิจัยที่เกิดขึ้นในระยะยาว 6.ปัญหาอุปสรรคสำคัญในการทำงานของ CRCN ประกอบด้วย เงื่อนไขภายนอกและภายใน CRCN ได้แก่ 6.1 สภาวะคอขวดในการพิจารณาทางจริยธรรม 6.2 สภาวะพร่องกำลังคนรองรับการวิจัยเนื่องจากระบบแรงจูงใจและบันไดวิชาชีพไม่เอื้ออำนวย 6.3 ภายใน CRCN ขาดภาวะการนำและการบริหารจัดการให้สามารถปรับปรุง พันธกิจ ยุทธศาสตร์และวิธีทำงานอย่างสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกองค์กรเท่าที่ควร ดังจะเห็นได้จากปริมาณและคุณภาพผลงานวิจัยยังจำกัดมากเมื่อเทียบกับองค์กรระดับสากล หรือแม้แต่ HITAP ซึ่งเป็นองค์กรภายในประเทศ เช่นเดียวกับการเชื่อมโยงผลการวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ก็ยังจำกัดการยกระดับศักยภาพด้านการวิจัยของเครือข่ายที่ยังจำกัดเฉพาะหน่วยสังกัดของนักวิจัยหลัก