บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การจัดบริการสุขภาพ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการจัดบริการสุขภาพ และปัญหาข้อเสนอแนะในการจัดบริการสุขภาพภาครัฐในพื้นที่สถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำการศึกษาข้อมูลโดยการจัดประชุมกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขจากสหสาขาวิชาชีพ และทำการสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดบริการสุขภาพภาครัฐกับบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (เทพา จะนะ นาทวี และสะบ้าย้อย) ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าพนักงาน ทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ แบ่งเป็น ผู้บริหารสถานบริการสาธารณสุข จำนวนทั้งหมด 254 คน ผู้ปฏิบัติ 1518 คน ใช้แบบสอบถามความคิดเห็นชนิดปลายปิดมาตรประมาณค่า 5 ระดับ และปลายเปิด ตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญ และค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือเท่ากับ .84 เก็บข้อมูลระหว่างเดือน พฤษภาคม - ธันวาคม 2551 ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ และวิเคราะห์เนื้อหา ซึ่งแบบสอบถามได้กลับคืนร้อยละ 68.3 ผลการวิจัยพบว่า บุคลากรสาธารณสุขส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 92.2 พักอาศัยที่พักของตนเอง ร้อยละ 70.3 ลักษณะของการเกิดสถานการณ์ความรุนแรงขณะปฏิบัติงาน 3 อันดับแรก คือ ยิง ร้อยละ 41.3 ระเบิด ร้อยละ 28.2 และข่มขู่ ร้อยละ 25.9 พยาบาลระดับผู้บริหาร มีอายุเฉลี่ยสูงสุด คือ 41.8 ปี และเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการมีอายุเฉลี่ยต่ำสุด คือ 28.6 ปี ระดับผู้บริหารและระดับผู้ปฏิบัติการใน 3 วิชาชีพแรกที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด คือ แพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ดังนี้ ระดับผู้บริหาร 71,667 52,770 และ 44,667 บาท และระดับผู้ปฏิบัติการ 63,310 57,452 และ 37,308 บาท ตามลำดับ สำหรับเจ้าพนักงานมีรายได้เฉลี่ยต่ำสุด คือ 11,803 บาท ปัจจัยในการจัดบริการสุขภาพภาครัฐในพื้นที่สถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ บุคลากรสาธารณสุขเห็นด้วยในระดับปานกลางกับปัจจัยในการจัดบริการสุขภาพทั้ง 3 ด้าน คือ การบริหารจัดการทรัพยากรสาธารณสุขและการเงิน โดยหัวข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรกคือ มีการเตรียมการด้านวัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเหมาะสม เช่น วงจรปิด ( =3.68 S.D.=.88) นโยบายของภาครัฐด้านการสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรส่งผลให้บุคลากรปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ( =3.60 S.D.= 1.26) และมีระบบสื่อสารคมนาคมเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารเข้าถึงได้ง่ายตลอดเวลา ( =3.55 S.D.=.88) ซึ่งมีความเห็นด้วยระดับมาก สำหรับหัวข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ นโยบายของภาครัฐในพื้นที่มีความยุติธรรมให้ความสำคัญแก่บุคลากรเสมอภาคเท่าเทียมกัน ( = 2.92 S.D.= 1.04) มีความเห็นด้วยระดับปานกลาง การจัดบริการสุขภาพภาครัฐในพื้นที่สถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ การจัดบริการสุขภาพที่สามารถปฏิบัติงานได้มากคือ ด้านส่งเสริมสุขภาพและด้านการบริการตามบริบทและวิถีชุมชน โดยกิจกรรม 3 อันดับแรกที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การบริการดูแลหญิงมีครรภ์ตามระยะเวลาที่กำหนด ( = 3.77 S.D.= .87) การบริการสุขภาพโดยคำนึงถึงหลักศาสนา ( =3.74 S.D.=.86) และให้บริการผู้ป่วยได้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ( =3.69 S.D.=.93) สำหรับการจัดบริการสุขภาพในด้านป้องกันและควบคุมโรค ด้านฟื้นฟูสภาพร่างกาย ด้านรักษาพยาบาล ด้านการบริการฉุกเฉินและการส่งต่อและด้านการเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถปฏิบัติงานได้ปานกลาง และกิจกรรมที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ การให้บริการผู้พิการที่บ้านอย่างต่อเนื่อง ( =3.11 S.D.=.97) ความสัมพันธ์ของปัจจัยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรสาธารณสุข และการเงิน กับการจัดบริการสุขภาพพบว่าปัจจัยทาง 3 ด้าน มีความสัมพันธ์ระดับต่ำถึงปานกลางกับการจัดบริการสุขภาพ กรณีจำแนกตามระดับของสถานบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิมีความเห็นสอดคล้องกัน คือ ปัจจัยด้านการบริหารจัดการงบประมาณที่ได้รับ ระบบการบริการฉุกเฉินและการส่งต่อและยาเวชภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นปัจจัยลำดับแรกๆ ที่มีความสัมพันธ์กับการจัดบริการสุขภาพ สำหรับปัจจัยรองลงมาคือ ระบบการทำงานเครือข่ายซึ่งมีความสัมพันธ์ระดับปานกลาง ในขณะที่ระดับตติยภูมิมีความเห็นว่าปัจจัยที่สำคัญอันดับแรกในการจัดบริการสุขภาพทุกมิติ คือ ระบบการทำงานเครือข่าย สำหรับปัจจัยรองลงมาคือ ระบบการรักษาความปลอดภัยและบุคลากรสาธารณสุข และระดับผู้บริหารสถานบริการสาธารณสุขมีความเห็นว่าปัจจัยด้านโครงสร้างและนโยบาย ระบบการทำงานเครือข่าย ระบบการบริการฉุกเฉินและการส่งต่อ และบุคลากรสาธารณสุขมีความสัมพันธ์ระดับมากกับการจัดบริการสุขภาพ สำหรับระดับผู้ปฏิบัติมีความเห็นว่า ปัจจัยด้านการบริหารจัดการงบประมาณที่ได้รับ ระบบการบริการฉุกเฉินและการส่งต่อยา/เวชภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ และระบบการทำงานเครือข่าย เป็นปัจจัยลำดับแรกๆ ที่มีความสัมพันธ์ระดับปานกลางกับการจัดบริการสุขภาพ สำหรับปัจจัยรองลงมา คือ ระบบการรักษาความปลอดภัย ปัญหาและข้อเสนอแนะในการจัดบริการสุขภาพที่สำคัญคือ การสนับสนุนค่าตอบแทนในแต่ละวิชาชีพมีความแตกต่างกันมาก ภาครัฐควรมีนโยบายสนับสนุนค่าตอบแทนการปฏิบัติงานต่อไปแต่ให้ทบทวนในแต่ละวิชาชีพให้มีความยุติธรรม ควรมีการกระจายทรัพยากรบุคคลและงบประมาณที่เหมาะสม จัดสรรบุคลากรขาดแคลน เช่น แพทย์ นักจิตวิทยาคลินิกให้เพียงพอ การให้บริการเชิงรุกไม่สามารถปฏิบัติงานได้เต็มที่ ขาดแคลนเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ปัญหาการสื่อสารในชุมชนและการใช้ภาษาถิ่น ดังนั้นควรสร้างเครือข่ายการให้บริการสุขภาพกับองค์กรส่วนท้องถิ่น กระตุ้นให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นและพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ต้นแบบ