บทคัดย่อ
รายงานฉบับนี้เป็นการติดตามสมรรถนะและสัมฤทธิผลของการดำเนินงานในระบบบริการสาธารณสุขและการคลังสุขภาพของสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไตรมาสสาม ของปีงบประมาณ 2553 โดยทำการวิเคราะห์จากฐานข้อมูลทุติยภูมิสำคัญที่มีอยู่แล้ว คือ ฐานข้อมูลรายงานทางการเงินซึ่งสถานพยาบาลในสังกัดส่งให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ฐานข้อมูลรายงานกิจกรรมซึ่งโรงพยาบาลส่งให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และฐานข้อมูลอิเลคทรอนิคส์ผู้ป่วยในของผู้ป่วยในกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในแต่ละช่วงไตรมาสเดียวกัน อาศัยกรอบแนวคิดและเครื่องชี้วัดเพื่อการติดตามประเมินระบบการคลังสุขภาพและระบบบริการสุขภาพ ที่ได้จากประชุมระดมสมองและกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในลักษณะของคณะทำงานที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข องค์กรประกันสุขภาพ นักวิชาการ โดยดูเฉพาะตัวชี้วัดสำคัญที่มีความไวในการสะท้อนสถานการณ์ทางการเงินการคลังของระบบบริการและปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดสถานการณ์การคลังดังกล่าว การวิเคราะห์มีข้อค้นพบดังต่อไปนี้
(1) ผลผลิต สถานพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีภาระจากการให้บริการเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสนี้ผู้ป่วยในระดับโรงพยาบาลศูนย์เพิ่มขึ้นมาก
(2) รายรับที่ปรับหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญแล้ว แหล่งรายรับหลักยังเป็นผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพมีอัตราเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสสอง รองมาคือผู้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และผู้มีสิทธิประกันสังคม
(3) ค่าใช้จ่าย สถานพยาบาลทุกระดับมีการจ่ายค่าตอบแทนสูงขึ้นต่อเนื่องจากปีงบประมาณที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายด้านยามีแนวโน้มลดลง
(4) ผลดำเนินงานในไตรมาสสาม โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด มีกำไรสุทธิเมื่อไม่รวมค่าเสื่อมราคาจำนวน 2,733 ล้านบาท อัตรากำไรร้อยละ 3 และเมื่อรวมค่าเสื่อมราคาแล้วพบว่า ขาดทุน 3,098 ล้านบาท อัตราขาดทุนร้อยละ 3 พบว่ามีโรงพยาบาล จำนวน 579 แห่ง มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย แต่ถ้าไม่รวมค่าเสื่อมราคา จำนวนโรงพยาบาลที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายจะลดเหลือ 447 แห่ง ปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดสถานการณ์การคลัง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในด้านผลผลิต (Out-put mixed) ที่ส่งผลต่อสถานการณ์การคลังที่ดีขึ้น มาจากรายรับจากสวัสดิการข้าราชการ โดยแหล่งรายจ่าย (Input-mixed) ที่สำคัญคือค่าตอบแทนบุคลากร และวัสดุการแพทย์
ในไตรมาสนี้ พบว่ามีโรงพยาบาลจำนวน 579 แห่งมีรายรับต่ำกว่าค่าใช้จ่าย โดยเป็นโรงพยาบาลชุมชน 520 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 45 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์ 14 แห่ง แต่ถ้าไม่รวมค่าเสื่อมราคา จำนวนโรงพยาบาลที่ขาดทุนจะลดเหลือ 447 แห่ง โดยเป็นโรงพยาบาลชุมชน 354 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 41 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์ 9 แห่ง ทั้งนี้สถานพยาบาลแต่ละแห่งมีความแตกต่างของปัจจัยที่มีผลต่อสถานการณ์การคลัง ซึ่งได้แสดงไว้ในภาคผนวก ข้อมูลที่ได้มายังพบว่ามีความผิดพลาดอยู่ระดับหนึ่งจึงต้องแปลผลด้วยความระมัดระวัง
หมายเหตุ
1. เนื่องจากรายงานฉบับนี้เป็นรายงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับการกำกับติดตามสถานการณ์ของการให้บริการสุขภาพ จึงเน้นความรวดเร็วในการออกรายงาน สถานบริการหลายแห่งอาจยังส่งข้อมูลได้ไม่ครบ หรือมีข้อผิดพลาด ดังนั้นดัชนีที่แสดงจึงยังไม่ใช่เป็นข้อสรุป โดยจะมีการปรับแก้ต่อเนื่องในรายงานไตรมาสต่อไป และจะนำเสนอเป็นดัชนีประจำปีในรายงานวิเคราะห์ประเมินสมรรถนะระบบบริการสุขภาพประจำปีในขั้นสุดท้าย
2. เพื่อแก้ปัญหาความครบถ้วนถูกต้องของข้อมูล จึงเลือกใช้มัธยฐาน (Median) ซึ่งเป็นค่ากลาง ที่ได้รับผลกระทบจากการที่มีข้อมูลเบี่ยงเบนน้อยกว่าการวัดค่ากลางวิธีอื่น
3. การออกแบบผังบัญชีกับรายงานข้อมูลสถิติไม่สอดคล้องกันทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ในรายละเอียดของปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงถึงระดับปริมาณการให้บริการ ต้นทุนต่อหน่วย และราคาต่อหน่วย