บทคัดย่อ
การสำรวจเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนโดยใช้ตัวอย่างซ้ำ เป็นการติดตาม สัมภาษณ์ครัวเรือนเดิมจำนวนประมาณ 6 พันตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 4 รอบ (พ.ศ. 2548, 2549, 2550 และ 2553) ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจสามารถนำไปใช้วิเคราะห์ข้อมูลในลักษณะ Longitudinal analysis ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2548-2553 ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผลการศึกษาพบว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2548-2553 ครัวเรือนไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงภาวะทางเศรษฐกิจที่รุนแรง แม้ว่าในช่วงปี พ.ศ. 2551 จะเกิดภาวะวิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศอเมริกาจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยครัวเรือนไทยยังมีรายได้และรายจ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนสูงขึ้น อัตราการเพิ่มเฉลี่ยต่อปีของรายจ่าย (ร้อยละ 7.3 ต่อปี) สูงกว่าอัตราการเพิ่มเฉลี่ยของรายได้ (ร้อยละ 5.7 ต่อปี) เล็กน้อย ทั้งนี้ครัวเรือนที่ยากจนและในเขตชนบทมีรายได้และรายจ่ายเพิ่มในอัตราที่สูงกว่าครัวเรือนที่ร่ำรวยและในเขตเมือง ครัวเรือนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งแม้จะมีรายได้และรายจ่ายมากกว่าในภูมิภาคอื่นแต่กลับมีอัตราการเพิ่มของรายได้และรายจ่ายที่ต่ำกว่าในภูมิภาคอื่นๆ รายจ่ายของครัวเรือนในหมวดที่จำเป็น ได้แก่ ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ มีสัดส่วนค่อนข้างคงที่ มีเพียงค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่มีสัดส่วนลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ6.4 ในปี พ.ศ.2548 เหลือเพียงร้อยละ 3.6 ในปี พ.ศ.2553 ด้านภาวะหนี้สินและการกู้ยืมเงิน พบว่า ครัวเรือนที่มีหนี้สินและกู้ยืมเงินมีสัดส่วนลดลงเล็กน้อย ครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนของครัวเรือนที่มีหนี้สินสูงกว่าภาคอื่นๆ ขณะที่ครัวเรือนที่มีการออมเงินมีสัดส่วนค่อนข้างคงที่ ครัวเรือนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีสัดส่วนของครัวเรือนที่มีการออมสูงที่สุด ครัวเรือนในเขตเมืองและชนบทมีสัดส่วนของครัวเรือนที่มีการออมไม่แตกต่างกัน แต่ในชนบทมีสัดส่วนของครัวเรือนที่มีหนี้สินและกู้ยืมเงินสูงกว่าในเขตเมือง ด้านการเจ็บป่วยและการใช้บริการรักษาพยาบาลในปี 2553 พบว่า คนยากจนมีอัตราป่วยและการนอนรพ.สูงกว่าผู้ที่ร่ำรวยกว่า ผู้ป่วยที่ยากจนและอยู่ในเขตชนบทไปใช้บริการแบบผู้ป่วยนอกที่สถานีอนามัยในสัดส่วนสูงที่สุด ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีฐานะร่ำรวยและในเขตเมืองเลือกใช้บริการสถานพยาบาลเอกชนเป็นส่วนใหญ่ ด้านการนอนโรงพยาบาล ผู้ป่วยในกลุ่มที่ยากจนที่สุดไปใช้บริการที่รพ.ชุมชนเป็นส่วนใหญ่เช่นเดียวกับผู้ป่วยในเขตชนบท ในขณะที่ผู้ป่วยในเขตเมืองไปใช้บริการที่รพ.ทั่วไป/รพ.ศูนย์และรพ.เอกชนเป็นส่วนใหญ่ ผู้ป่วยกลุ่มร่ำรวยที่สุดเกือบครึ่งหนึ่งไปใช้บริการที่รพ.เอกชน ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนและการสำรวจอนามัยและสวัสดิการซึ่งมีตัวอย่างขนาดใหญ่กว่า แสดงถึงความน่าเชื่อถือของการสำรวจโดยใช้ตัวอย่างซ้ำชุดนี้อย่างไรก็ตามการเก็บข้อมูลด้านสุขภาพที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์เพิ่งเริ่มในการสำรวจครั้งล่าสุด ดังนั้นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงภาวะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนและสภาวะทางสุขภาพจึงยังไม่ได้ทำในครั้งนี้ การสำรวจเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนโดยใช้ตัวอย่างซ้ำในรอบต่อไปจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาให้การสนับสนุนเพื่อให้ดำเนินการสำรวจอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากการสำรวจนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนนโยบายด้านสังคมและสุขภาพ