บทคัดย่อ
สถานการณ์การคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย มีรายงานว่าผู้บริโภคมีความเสี่ยงสูงในการบริโภคผลิตภัณฑ์ และบริการโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ ประกอบกับการดำเนินงานทางด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของภาคราชการยังไม่เต็มที่ กลไกของรัฐยังไม่สามารถให้การคุ้มครองได้เพียงพอ ภาคการเมืองยังไม่ให้ความสำคัญด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเท่าที่ควร ผู้ประกอบการยังกระทำผิดกฎหมายอยู่บ่อยๆ ครั้ง ผู้ใช้กฎหมายยังมีความหย่อนยานในการนำกฎหมายมาปฏิบัติ หรือตัวบทกฎหมายมีความใหม่ต่อการนำมาใช้ของผู้ที่เกี่ยวข้อง การให้ข้อมูลข่าวสารของสื่อยังบิดเบือนความจริง และไม่ครบถ้วน ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับการสนับสนุนที่ไม่ถูกต้อง และถูกสร้างค่านิยมที่ผิด นอกจากนี้ตัวผู้บริโภคยังขาดความเข้มแข็ง รวมทั้งยังไม่ได้รับการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อให้รู้เท่าทัน เพื่อให้สามารถปกป้องคุ้มครองตนเองได้ การสนับสนุนงานคุ้มครองผู้บริโภคจากสถาบันทางวิชาการด้านข้อมูลและการจัดการความรู้ยังมีน้อย รวมถึงข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่อาจมีผลให้ความอิสระในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการลดลงจึงเป็นเหตุให้ผู้บริโภคตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงในการบริโภคสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น
ความท้าทายที่มีต่อระบบยาและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จะมาจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร ที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยน โยกย้ายผู้บริหารขององค์กรถูกแทรกแซงจากการเมือง และองค์กรจะถูกปรับโครงสร้างตามตัวของผู้บริหาร ทิศทางนโยบายการทำงานของผู้บริหารยังเป็นแบบเชิงตั้งรับ ยังไม่กล้าตัดสินใจ ไม่ชัดเจน การทำงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในปัจจุบันเป็นการทำงานแบบตั้งรับ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนในระดับกอง/สำนักต่างๆ ยังพบปัญหาการทำงานที่ยังไม่เต็มศักยภาพ และขาดความเชื่อมโยง ความท้าทายจากระบบหลักประกันสุขภาพและการกระจายอำนาจในระบบบริการสุขภาพ เป็นอีกประเด็นที่จะส่งผลต่อระบบยาและคุ้มครองผู้บริโภค ความท้าทายจากโลกาภิวัตน์เรื่องการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบ ที่มา และเทคโนโลยีการค้นพบยาใหม่จะทำให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการขึ้นทะเบียน การประเมินผล และการควบคุม ประเด็นอื่นๆ เช่น ความก้าวหน้าของเรื่องข้อมูลยาในโซ่อุปทานสุขภาพและรหัสมาตรฐานของยา ระบบสารสนเทศ Interoperability & Health-Level 7 HL7 ที่เชื่อมต่อในประเทศและสากล ฐานข้อมูลความรู้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ทันสมัย ถูกต้อง และเป็นกลางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ การนำเทคโนโลยีอีเล็กโทรนิกส์มาใช้ในการบริหารงาน
ข้อเสนอแนะ บทบาทใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขในระบบยาและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ จะใช้กรอบแนวคิดของการแก้ไขปัญหาสำคัญที่มีในปัจจุบันพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อความสำเร็จ คือ ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มีการใช้อย่างสมประโยชน์ โดยใช้กระบวนการพัฒนาระบบบริหาร พัฒนาองค์ความรู้ และการจัดการเครือข่ายความร่วมมือ (Networking) มีการดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และมีมาตรฐาน กฎระเบียบในการปฏิบัติงานอย่างชัดเจน องค์กรมีพัฒนาการเป็นองค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูง
การจัดกลุ่มภารกิจและโครงสร้าง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ1. กลุ่มภารกิจสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรเพื่อปัจจุบันและอนาคต
2. กลุ่มภารกิจเพิ่มระดับคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ
3. กลุ่มภารกิจส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และสมประโยชน์
การจัดแบ่งกลุ่มเช่นนี้จะนำไปสู่ผลลัพธ์หลักที่พึงประสงค์คือ ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มีการใช้อย่างสมประโยชน์ ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกต้อง และมุ่งสู่องค์กรที่มีสมรรถนะสูง
บทบาทของส่วนงานคุ้มครองผู้บริโภคในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ควรทำหน้าที่เป็นฝ่ายปฏิบัติงานเสมือนเป็นสาขาย่อยของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รับนโยบาย มาตรฐานการทำงานและ Code of Conduct มาจากส่วนกลางเพื่อให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเลี่ยงระเบียบที่แต่ละจังหวัดทำไม่เหมือนกันได้ ในอนาคตการให้ขึ้นทะเบียนด้วยระบบ e-registration และส่งเอกสารเป็น electronic file มายังส่วนกลางทั้งหมดจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างถาวร แนวทางการบริหารงานทำได้ 2 ทางเลือกคือ ให้แต่ละกลุ่มภาระกิจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประสานงานกับส่วนงานคุ้มครองผู้บริโภคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดโดยตรง หรือ จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเขต/หรือภาค รับนโยบาย มาตรฐานการทำงาน สื่อและเอกสารสำหรับการให้ความรู้ และ Code of Conduct มาจากส่วนกลาง ทำงานขึ้นทะเบียน ส่วนงานให้ความรู้ประชาชนและตรวจจับกระจายไปยังจังหวัด และตำบล โดยความร่วมมือขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะเข้ามามีบทบาทในการวางแผน วางเป้าหมาย พร้อมร่วมปฏิบัติการในด้านงานให้ความรู้แก่ประชาชนและงานตรวจจับ
บทบาทของภาคประชาชนและองค์กรอิสระ ให้ประชาชนรวมกลุ่มกันเพื่อคิดระบบในการดูแลตนเองในการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอจะต้องเป็นแกนนำในการวางแผน ตั้งเป้าหมาย และร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าพนักงานสาธารณสุข เพื่อลดความกดดันของเจ้าหน้าที่และสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ ประชาชน และเจ้าพนักงาน
การบริหารในอนาคต จะอยู่ในระบบราชการเช่นเดิม เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ต้องบังคับใช้อำนาจตามกฏหมาย เลขาธิการเป็นผู้บริหารโดยตำแหน่ง ปรับรูปแบบการจัดองค์กรให้เป็นแบบกลุ่มภาระกิจ 3 กลุ่ม ระบบบริหารมี รองเลขาธิการทำหน้าที่เป็นผู้บริหารหลักของแต่ละกลุ่มภาระกิจ บริหารงานแบบ CEO คือมีตำแหน่งเป็น Chief Technical Officer, Chief Quality Officer (Chief Regulatory Officer), และ Chief Promotion Officer ต้อง sub-contract ในด้านงานบริการ และ หน่วยงานที่รับภาระกิจที่ทำให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างสมประโยชน์ จัดตำแหน่งกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการ เช่นมีตำแหน่งรองรับแพทย์ สัตวแพทย์ นักโภชนาการ นักเคมี นักเศรษฐศาสตร์ หรืออื่นๆ สร้างแรงจูงใจ ปรับบทบาทของบางหน่วยงานให้รองรับความท้าทายในอนาคต ปรับแผนยุทธศาสตร์ และ KPI ให้สอดคล้องกับบทบาทหลัก (core business)
แนวทางการบริหารจัดการในช่วงเปลี่ยนผ่านจากโครงสร้างปัจจุบันไปสู่โครงสร้างใหม่ รองเลขาธิการเป็นหัวหน้าที่กลุ่มภาระกิจ รับผิดชอบให้เป็นไปตามแผนและเป้าหมาย บุคลากรที่เหมาะสมกับภารกิจ จะต้องเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นเพื่อผลสัมฤทธ์ขององค์กร มีภาวะความเป็นผู้นำ มีความรู้และทักษะสูงในด้านการวิเคราะห์นโยบายและยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการความรู้และสารสนเทศ และการบริหารกำลังคน ทำงานรับผิดชอบไม่ว่าจะเปลี่ยนเลขาธิการไปอย่างไร บทบาทของเลขาธิการจะกำกับดูแล ประสานงานกับหน่วยงานภายนอกและฝ่ายการเมือง มีคณะที่ปรึกษาหรือกรรมการบริหารเพื่อกำกับให้ภารกิจทั้ง 3 กลุ่มตอบสนองเป้าหมายขององค์กร ในระยะปรับเปลี่ยน ผู้บริหารต้องทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ทุกระดับ และลงทุนเรื่องระบบสารสนเทศกับการพัฒนากำลังคน