บทคัดย่อ
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดของการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. ด้วยการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลได้ (Cost-benefit analysis) โดยการนำข้อมูลจากการวิเคราะห์ต้นทุนความเจ็บป่วยด้วยวิธีอุบัติการณ์ (Incidence-based, cost-of-illness analysis) มาใช้ ทั้งนี้ทำการวิเคราะห์ใน 2 แผนงานของ สสส. ได้แก่ แผนงานการควบคุมการบริโภคยาสูบและแผนงานการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับต้นทุนที่ครอบคลุมในการวิเคราะห์ ได้แก่ ต้นทุนการสูญเสียผลิตภาพจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และการสูญเสียผลิตภาพในการทำงาน ทั้งนี้มูลค่าต้นทุนแสดงเป็นมูลค่าในปี 2553 แผนงานการควบคุมการบริโภคยาสูบ ผลการวิเคราะห์ต้นทุนความเจ็บป่วยพบว่า การสูบบุหรี่ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล โดยต้นทุนต่อนักสูบหน้าใหม่เพศชาย 1 คน มีค่าประมาณ 158,000 บาท (โดยแบ่งเป็นต้นทุนจากการสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควร = 96,000 บาท, ต้นทุนจากการสูญเสียผลิตภาพในการทำงาน = 62,000 บาท) ในขณะที่จะมีอายุสั้นลง = 4.6 ปี สำหรับในเพศหญิงนั้น ต้นทุนต่อนักสูบหน้าใหม่ 1 คนจะมีค่าประมาณ 85,000 บาท (แบ่งเป็น ต้นทุนจากการสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควร = 32,000 บาท และต้นทุนจากการสูญเสียผลิตภาพในการทำงาน = 53,000 บาท) ในขณะที่จะมีอายุสั้นลง = 3.4 ปี ในส่วนของต้นทุนที่ป้องกันได้หากทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่เลิกสูบได้นั้น พบว่า การทำให้เลิกสูบได้เร็วยิ่งทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น โดยพบว่าในเพศชายที่เลิกสูบบุหรี่ที่อายุ 30 35 และ 40 ปี จะมีอายุสั้นลง 1.4 1.7 และ 2 ปีตามลำดับ ในขณะที่เพศหญิงที่เลิกสูบบุหรี่ที่อายุ 30 35 และ 40 ปี จะมีอายุสั้นลง 0.6 0.8 และ 1 ปีตามลำดับ ทั้งนี้ ต้นทุนที่ป้องกันได้หากทำให้เพศชาย 1 คนเลิกสูบบุหรี่ได้ที่อายุ 30 35 และ 40 ปี คือ 71,000 บาท 85,000 บาท และ 42,000 บาท ตามลำดับ สำหรับต้นทุนที่ป้องกันได้หากทำให้เพศหญิง 1 คนเลิกสูบบุหรี่ได้ที่อายุ 30 35 และ 40 ปี คือ 40,000 บาท 31,000 บาท และ 23,000 บาท ตามลำดับ ทั้งนี้ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ 1 ราย และการทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่เลิกสูบได้สามารถช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นมาตราการหรือนโยบายที่ช่วยป้องกันนักสูบหน้าใหม่และลดจำนวนผู้ที่สูบบุหรี่จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้จากผลการศึกษายังชี้ให้เห็นด้วยว่าผลกระทบจากการสูญเสียผลิตภาพในการทำงานคิดเป็นสัดส่วนที่สำคัญของการสูญเสียทั้งหมด ดังนั้นทั้งหน่วยงานในภาครัฐและเอกชนควรให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมรณรงค์และการออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบดังกล่าวจากในสถานประกอบการให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน แผนงานการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลการวิเคราะห์ต้นทุนความเจ็บป่วย พบว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล โดยในการประเมินต้นทุนต่อนักดื่มหน้าใหม่ 1 รายจำแนกตามเพศและระดับการดื่ม พบว่า ในเพศชายต้นทุนต่อนักดื่มหน้าใหม่ 1 ราย กรณีที่ดื่มบ้าง มีค่าเท่ากับ 19,000 บาท (แบ่งเป็นต้นทุนจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร -17,555 บาท และต้นทุนจากการเสียผลิตภาพในการทำงาน 37,000 บาท) ดื่มอย่างอันตรายมีค่าเท่ากับ 307,000 บาท (แบ่งเป็นต้นทุนจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 58,000 บาท และต้นทุนจากการเสียผลิตภาพในการทำงาน 249,000 บาท) และดื่มอย่างอันตรายมากมีค่าเท่ากับ 360,000 บาท (แบ่งเป็นต้นทุนจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 89,000 บาท และต้นทุนจากการเสียผลิตภาพในการทำงาน 270,000 บาท) ตามลำดับ ในเพศหญิง กรณีที่ดื่มบ้างมีค่าเท่ากับ 28,000 บาท (แบ่งเป็นต้นทุนจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร -4,000 บาท และต้นทุนจากการเสียผลิตภาพในการทำงาน 32,000 บาท) ดื่มอย่างอันตรายมีค่าเท่ากับ 202,000 บาท (แบ่งเป็นต้นทุนจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 14,000 บาท และต้นทุนจากการเสียผลิตภาพในการทำงาน 188,000 บาท) และ ดื่มอย่างอันตรายมาก มีค่าเท่ากับ 240,000 บาท (แบ่งเป็นต้นทุนจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 21,000 บาท และต้นทุนจากการเสียผลิตภาพในการทำงาน 219,000 บาท) ตามลำดับ ทั้งนี้ยังพบว่าในเพศชายหากมีการดื่มต่อเนื่องจะมีอายุสั้นลง 2.6 ปี และ 3.86 ปี หากดื่มแบบอันตรายและอันตรายมาก ตามลำดับ สำหรับในเพศหญิงจะมีอายุสั้นลง 1.47 ปี และ 2.2 ปี หากดื่มแบบอันนตรายและอันตรายมาก ตามลำดับ ในส่วนของต้นทุนที่ป้องกันได้หากทำให้ผู้ที่ดื่มเลิกดื่มได้นั้น พบว่า ในทุกระดับของการดื่ม การทำให้เลิกดื่มได้เร็วทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น โดยพบว่า ต้นทุนที่ป้องกันได้แตกต่างกันไปตามเพศและประเภทของการดื่ม ดังรายละเอียด ต่อไปนี้ ต้นทุนที่ป้องกันได้หากทำให้เพศชาย 1 คน ที่ดื่มบ้าง เลิกดื่มที่อายุ 25 35 และ 45 ปี คือ 17,000 บาท 7,400 บาท และ 600 บาท ตามลำดับ สำหรับต้นทุนที่ป้องกันได้หากทำให้เพศหญิง 1 คนที่ดื่มบ้างเลิกดื่มได้ที่อายุ 30 35 และ 40 ปี คือ 25,000 บาท 13,000 บาท และ 4,000 บาท ตามลำดับ ต้นทุนที่ป้องกันได้หากทำให้เพศชาย 1 คน ที่ดื่มแบบอันตราย เลิกดื่มที่อายุ 25 35 และ 45 ปี คือ 275,000 บาท 132,000 บาท และ 13,500 บาท ตามลำดับ สำหรับต้นทุนที่ป้องกันได้หากทำให้เพศหญิง 1 คน ที่ดื่มบ้างเลิกดื่มได้ที่อายุ 30 35 และ 40 ปี คือ 178,000 บาท 80,000 บาท และ 3,700 บาท ตามลำดับ ต้นทุนที่ป้องกันได้หากทำให้เพศชาย 1 คน ที่ดื่มแบบอันตรายมาก เลิกดื่มที่อายุ 25 35 และ 45 ปี คือ 288,000 บาท 121,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ สำหรับต้นทุนที่ป้องกันได้หากทำให้เพศหญิง 1 คน ที่ดื่มบ้างเลิกดื่มได้ที่อายุ 30 35 และ 40 ปี คือ 184,000 บาท 69,000 บาท และ 5,600 บาท ตามลำดับ ทั้งนี้ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการป้องกันไม่ให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ 1 ราย รวมถึงการทำให้ผู้ที่ดื่มในทุกประเภทโดยเฉพาะที่เป็นการดื่มแบบอันตรายและการดื่มแบบอันตรายมากเลิกดื่มได้ จะสามารถช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้จากผลการศึกษายังชี้ให้เห็นด้วยว่าผลกระทบจากการสูญเสียผลิตภาพในการทำงานคิดเป็นสัดส่วนที่สำคัญของการสูญเสียทั้งหมดและยังพบอย่างเด่นชัดแม้ในกลุ่มที่ดื่มบ้างก็ตาม ดังนั้นทั้งหน่วยงานในภาครัฐและเอกชนควรให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมรณรงค์และการออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบดังกล่าวจากแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น