บทคัดย่อ
รายงานฉบับนี้เป็นการวิเคราะห์สัมฤทธิผลของการดำเนินงานในระบบบริการสาธารณสุขในส่วนการคลังสุขภาพของสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขประจำปี งบประมาณ 2553 โดยทำการวิเคราะห์จากฐานข้อมูลทุติยภูมิสำคัญที่มีอยู่แล้ว คือ ฐานข้อมูลรายงานทางการเงินซึ่งสถานพยาบาลในสังกัดส่งให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ฐานข้อมูลรายงานกิจกรรมซึ่งโรงพยาบาลส่งให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และฐานข้อมูลอิเลคทรอนิคส์ผู้ป่วยในของกองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กรมบัญชีกลาง โดยดูเฉพาะตัวชี้วัดสำคัญที่มีความไวในการสะท้อนสถานการณ์ทางการเงินการคลังของระบบบริการและปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดสถานการณ์การคลังดังกล่าว โดยสรุปเป็นผลผลิต รายได้ ค่าใช้จ่าย อัตราส่วนทางการเงิน สถานการณ์ทางการเงิน และข้อเสนอเพื่อพัฒนาคุณภาพรายงานทางการเงินการวิเคราะห์มีข้อค้นพบดังต่อไปนี้ ในปีงบประมาณ 2553 พบว่าผลผลิตหลักของสถานบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข คือ บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นทั้งเชิงปริมาณและความซับซ้อน จากปีงบประมาณก่อน สัดส่วนผลผลิตบริการผู้ป่วยนอกระดับโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์เปลี่ยนไปชัดเจนโดยสัดส่วนบริการผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมเพิ่มขึ้น ค่าเฉลี่ยน้ำหนักสัมพัทธ์ (Case Mix Index) สูงขึ้นในโรงพยาบาลทุกระดับ สัดส่วนรายได้จำแนกตามแหล่งรายได้หลักในปีงบประมาณ 2553 มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีสัดส่วนแหล่งรายได้หลักในส่วนค่าบริการผู้ป่วยนอกของสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเพิ่มขึ้นในสถานพยาบาลทุกระดับ แม้ว่ารายได้จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังคงเป็นแหล่งรายได้สูงสุดอยู่เช่นเดิม โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในส่วนค่าแรงที่ไม่ใช่เงินเดือน ค่ายา ค่าวัสดุทางการแพทย์เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน ส่วนโรงพยาบาลศูนย์มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในส่วนค่าแรงที่ไม่ใช่เงินเดือน ค่าวัสดุทางการแพทย์เพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนค่ายาลดลงแต่ยังสูงถึงร้อยละ 25 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดและมี “ค่าเฉลี่ย Adjust Relative Weight” สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีงบประมาณก่อน การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินพบว่า สภาพคล่องของสถานพยาบาลลดลง ความสามารถในการบริหารสินทรัพย์เพื่อก่อให้เกิดรายได้ของโรงพยาบาลมีการปรับตัวลดลงในทุกประเภทของโรงพยาบาล โรงพยาบาลจำนวน 495 แห่ง จากจำนวนโรงพยาบาล 834 แห่ง ประสบปัญหารายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่ายในส่วนต้นทุนค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12 ปัจจัยผลักดันต้นทุนที่สำคัญ คือ ค่าแรง ค่าตอบแทน และค่ายา ซึ่งเป็นต้นทุนร้อยละ 30, 16 และ 19 ตามลำดับ โดยโรงพยาบาลมีรายได้จากค่ารักษาพยาบาลสุทธิเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับรายได้ในปีงบประมาณ 2552 จากปริมาณการให้บริการผู้ป่วยนอกเพิ่มประมาณร้อยละ 2 และผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับบริการในปีงบประมาณ 2552 เพื่อพัฒนาให้บัญชีของโรงพยาบาลถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีของประเทศซึ่งมีการปรับปรุงใหม่เป็นระยะ การบัญชีของโรงพยาบาลควรปรับปรุงเพิ่มเติมในประเด็นดังต่อไปนี้ คือ การแสดงข้อมูลผลการดำเนินงานรวมให้ครบถ้วนตามมาตรฐานบัญชีฉบับที่ 27 (ฉบับปรับปรุง 2552) การจัดทำงบกระแสเงินสดและการปรับปรุงยอดคงเหลือในรายการทุนสะสมยกมาและทุนสะสม ณ วันต้นปีงบประมาณให้ตรงกันตามแนวทางของมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 8 (TAS 8)