บทคัดย่อ
โครงการหน่วยบริหารจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ได้รับงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินงานจากแผนงานร่วมสร้างเสริมสุขภาพกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายใต้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โครงการ EU Project และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่ 1 มีนาคม 2551 – 30 กันยายน 2552 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาทางเลือกนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิภายใต้ระบบประกันสุขภาพ
วิธีทำงาน เป็นการบริหารที่เริ่มต้นจากการตั้งโจทย์ประเด็นนโยบายที่จะพัฒนานโยบาย แล้วจึงสำรวจความรู้และชุดความรู้ที่มีอยู่เดิมว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนานโยบายนั้นๆ ได้หรือไม่ แบ่งการทำงานเป็น 3 ระดับ คือ งานวิชาการ การสังเคราะห์องค์ความรู้ และการเชื่อมโยงกับผู้บริหารหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยคณะทำงานวิชาการหลัก (Technical Core Team) ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการและนักบริหารที่มีความรู้และประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ทำหน้าที่สังเคราะห์ความรู้และหารูปแบบการใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด หลังจากนั้นจึงหาช่องว่างของการพัฒนาข้อเสนอทางนโยบายว่าต้องการความรู้ใดมาเติมเต็ม แล้วจึงสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยขนาดเล็กและขนาดใหญ่เพื่อเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว และนำองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นนั้นมานำเสนอในเวทีวิชาการ (Technical Forum) เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น จากนั้นคณะทำงานวิชาการหลัก (Technical Core Team) จึงนำองค์ความรู้เดิมและองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นมาสังเคราะห์รวมกัน สร้างเป็นข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และนำไปเสนอต่อเวทีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stake holders Forum) ซึ่งเป็นเวทีที่ประกอบไปด้วยผู้เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นๆ ในระดับต่างๆ ตั้งแต่ผู้ตัดสินใจทางนโยบาย ผู้ปฏิบัติโดยตรง และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนั้นๆ เพื่อร่วมกันตัดสินใจเชิงนโยบายและผลักดันไปสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงสร้างการทำงานดังกล่าวนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ในปัจจุบันมีองค์ความรู้อยู่จำนวนมากที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากขาดการสังเคราะห์และจัดการความรู้ที่ดี และการเชื่อมต่อกับผู้ใช้ประโยชน์
ด้วยข้อจำกัดด้านระยะเวลาในการดำเนินงาน จึงทำให้โครงการฯ บรรลุผลวัตถุประสงค์หลักในการจัดทำข้อเสนอแนะทางเลือกเชิงนโยบายเพียงประเด็นการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข เท่านั้น แต่หากพิจารณาถึงผลที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการดำเนินงาน ที่เปิดเวทีให้นักวิจัย นักปฏิบัติ และผู้ใช้ความรู้ของระบบริการปฐมภูมิ ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และทำความเข้าใจร่วมกันแล้วจะพบว่าโครงการประสบความสำเร็จในด้านที่สามารถต่อเชื่อมความรู้ภาพเล็ก ให้กลายเป็นความรู้ภาพใหญ่ ทั้งยังสามารถสังเคราะห์หาความรู้ที่ขาดหายไปซึ่งเป็นความรู้ที่จำเป็นต้องใช้ในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับบริการปฐมภูมิ นอกจากนี้การรวบรวมคนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเข้ามาในเวทีเดียวกัน ยังเป็นช่องทางให้นักวิชาการและนักปฏิบัติที่ทำงานในประเด็นเดียวกันได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้วิธีคิดวิธีการทำงานที่แตกต่างไป นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมกระบวนการส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือเป็นผู้ใช้นโยบาย เช่น กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพ รวมถึงภาคเอกชน ที่เข้าร่วมกระบวนการทั้งในฐานะคณะทำงานวิชาการหลัก และในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารระดับสูงมีโอกาสได้รับฟังข้อมูลความรู้ทั้งที่เป็นวิชาการและความรู้จากประสบการณ์จากนักวิชาการและนักปฏิบัติที่เข้าร่วมกระบวนการโดยตรง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกสะสมไว้และถูกหยิบมาใช้เมื่อมีโอกาส และกระบวนการดังกล่าวยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารได้รู้จักตัวบุคคลที่เป็นแหล่งข้อมูลในประเด็นด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริการปฐมภูมิในมิติที่หลากหลาย ทำให้ผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นตัวบุคคลได้ทันทีเมื่อมีโอกาส
โครงสร้างการดำเนินงานดังที่กล่าวมาในข้างต้น มีจุดแข็งและจุดที่ควรคำนึงถึงหากจะมีการนำกระบวนการดังกล่าวไปใช้ในอนาคต ดังนี้
จุดแข็ง - นอกเหนือจากการออกแบบกระบวนการทำงานให้มีกลไกคอยเชื่อมประสานระหว่างกระบวนการวิจัยและกระบวนการนโยบายแล้ว พบว่าจุดแข็งที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งของการบริหารจัดการโครงการวิจัยในลักษณะนี้คือภาคีผู้เข้าร่วมกระบวนการ
ตัวผู้อำนวยกระบวนการ (Facilitator) เป็นผู้มีความสำคัญยิ่งในกระบวนการ ต้องเป็นบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการ ทั้งฝ่ายผู้ผลิตความรู้และผู้ใช้ความรู้ เข้าใจกระบวนการทำงานทั้งหมด ต้องเที่ยงตรง ไม่ลำเอียง หรือยึดมั่นกับแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง ใจกว้างและยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง หลากหลาย ไม่ครอบงำที่ประชุม แต่สามารถอำนวยการประชุมให้ภาคีผู้เข้าร่วมประชุมทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย มุ่งที่เป้าหมายเพื่อส่วนรวมเป็นหลัก มีความสามารถในการสังเคราะห์ และสรุปความรู้ จับประเด็นที่ได้จากการประชุม และนำเสนอเพื่อให้เกิดประเด็นเชิงพัฒนา แก้ไขปัญหา/ข้อบกพร่อง และทางเลือกเชิงนโยบาย
ซึ่งควรมีคุณสมบัติดังนี้
ภาคีต่างๆ ที่เข้ามีส่วนร่วม ต้องใจกว้าง เปิดเผย มองอนาคต มองภาพรวมเพื่อการแก้ไขปัญหาที่จะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีของประชาชน มากกว่าการแก้ไขปัญหาขององค์กรของตนเอง มุ่งการทำงานที่ผลลัพธ์เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย มีความสามารถในการแสวงหาความรู้และชุดความรู้
จุดที่ต้องปรับปรุง – สร้างการมีส่วนร่วมของวิชาชีพอื่น ในกระบวนการทางวิชาการต่างๆ ทั้งในระดับนักวิชาการหลัก การประชุมวิชาการ และการประชุมผู้มีส่วนได้เสีย บุคลากรสายอื่นๆ เช่น หมออนามัย ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนจากภาคเอกชน และภาคประชาชน เป็นต้น ซึ่งภาคส่วนเหล่านี้อาจจะมีส่วนในการสนับสนุนในการผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติ