บทคัดย่อ
หน่วยบริการปฐมภูมิมีความสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นสำหรับประชาชน เพื่อให้เข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อนที่เกิดขึ้นของกลไกต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการกำกับ และพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานบริการปฐมภูมิในปัจจุบัน จึงต้องมีการทบทวน รวบรวมข้อมูลมาตรฐานตัวชี้วัดคุณภาพของหน่วยบริการปฐมภูมิและวิเคราะห์ ตลอดจนพัฒนาตัวชี้วัดที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ของการจัดระบบบริการปฐมภูมิที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการ ของประชาชน
ตัวชี้วัดหน่วยบริการปฐมภูมิจำนวนมากในปัจจุบัน ได้รับการพัฒนาจาก 2 หน่วยงานหลักคือ กระทรวงสาธารณสุขและสปสช. ประกอบด้วย เกณฑ์การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ มาตรฐานศูนย์สุขภาพชุมชน เกณฑ์คุณภาพบริการ ชุดตัวชี้วัดงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และตัวชี้วัดE-Inspection มีกลไกในการติดตามกำกับอยู่ภายใต้นโยบายของ 2 หน่วยงานหลัก โดยกระทรวงสาธารณสุขติดตามกำกับผ่านระบบการนิเทศงานและตรวจราชการปกติ สปสช.ติดตามกำกับผ่านการบริหารงบกองทุนUC ทั้งกระทรวงสาธารณสุขและสปสช.ได้กำหนดกลไกระดับเขตและจังหวัด ระบบการติดตามกำกับ ระบบรายงาน ซึ่งพบว่าขาดเอกภาพของนโยบายและขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน อีกทั้งพบว่า ปัจจัยด้านการสนับสนุนจากCUP และบริบทที่แตกต่างของหน่วยบริการปฐมภูมิส่งผลต่อสมรรถนะและผลลัพธ์ของหน่วยบริการปฐมภูมิ ตัวชี้วัดส่วนใหญ่กำหนดจากส่วนกลาง ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ปฏิบัติ ไม่สอดคล้องกับบริบทที่แท้จริงของหน่วยบริการปฐมภูมิ ไม่เป็นธรรมแก่หน่วยบริการปฐมภูมิขนาดเล็ก และผลการประเมินไม่ได้นำกลับมาใช้พัฒนาระบบบริการปฐมภูมิอย่างต่อเนื่อง
แนวทางการพัฒนาชุดตัวชี้วัดที่เอื้อต่อระบบบริการปฐมภูมิ กำหนดกรอบการกำหนดชุดตัวชี้วัดที่ครอบคลุมโครงสร้าง การบริหารจัดการและกลไกการดำเนินงาน กระบวนการให้บริการตามหลักการบริการปฐมภูมิ และผลลัพธ์บริการที่เกิดขึ้น ตัวชี้วัดต้องมีจำนวนไม่มาก สอดคล้องกับทิศทางนโยบายประเทศ ได้รับการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมจากผู้ปฏิบัติ และมีคุณสมบัติที่เหมาะสม สามารถอธิบายภาพรวมของระบบบริการปฐมภูมิ พัฒนามาจากฐานข้อมูลและระบบข้อมูลที่มีอยู่ ไวต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิอย่างต่อเนื่อง