บทคัดย่อ
การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อการขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย ประเภท (1) (ก) เพื่อศึกษาและติดตามการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ของผู้ได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ (3) เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย ประเภท (ก) โดยใช้วิธีการศึกษาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างเชิงปริมาณคือ ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะและรับการทดสอบความรู้จากคณะกรรมการวิชาชีพสาขาแพทย์แผนไทย ปี 2554 ทั้ง 2 เขตในภาคใต้ ครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ได้ตัวอย่างที่ศึกษารวม 429 คน แบ่งเป็นตัวอย่างจากเขต 11 จำนวน 209 ตัวอย่าง และเขต 12 จำนวน 220 ตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างเชิงคุณภาพจำนวน 13 ราย มี 2 สถานศึกษาในจังหวัดนครศรีธรรมราช สัมภาษณ์ครู 4 คน นักเรียน 5 คน ในจังหวัด สงขลา มี 3 สถาบันการศึกษา สัมภาษณ์ ครู 4 คน และเข้าร่วมการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนทั้ง 2 แห่งจังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะเวลาการศึกษา เดือนกุมภาพันธ์ – กันยายน พ.ศ. 2554 ผลการศึกษาเชิงปริมาณพบว่ากลุ่มตัวอย่างจำนวน 429 คน ในเขต 11มีภูมิลำเนาที่ จังหวัดนครศรีธรรมราชมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 46.4 รองลงมา คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร้อยละ 28.7 ในเขตที่ 12 กลุ่มตัวอย่างมีภูมิลำเนาที่จังหวัดสงขลามากที่สุด ร้อยละ 36.6 รองลงมา จังหวัดพัทลุง คิดเป็นร้อยละ 10.1 กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อายุของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ ระหว่าง 41-50 ปี กลุ่มตัวอย่างมีอายุน้อยที่สุด 21 ปี และอายุมากที่สุด 80 ปี อายุเฉลี่ย 44.4 ปี ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 12.2 ปี ด้านการศึกษามีระดับการศึกษาปริญญาตรีมากที่สุด ร้อยละ 35.8 ด้านการประกอบอาชีพ คือ การรับจ้างมากที่สุด ร้อยละ 26.6 รองลงมา คือ กลุ่มที่มีรายได้ประจำ ได้แก่ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัท และข้าราชการบำนาญ ร้อยละ 24.2 ด้านอาชีพเสริม ประกอบอาชีพเสริมคิดเป็นร้อยละ 55.1 รูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อการขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประเภท (ก) ส่วนผู้เรียน การเรียนการสอนแพทย์แผนไทยเป็นการเรียนการสอนแบบผู้ใหญ่ตามความสมัครใจมีอายุที่แตกต่างกันตั้งแต่อายุ 21 ปี -80 ปี มีพื้นฐานการศึกษาตั้งแต่อ่านออกเขียนได้ -ระดับปริญญาตรี เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการแพทย์แผนไทยกับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์แพทย์แผนไทย มีประสบการณ์การสอบตั้งแต่ 1 – 10 ครั้ง ความหลากหลายของผู้เรียนดังกล่าวย่อมเป็นการยากที่จะทำให้เกิดคุณภาพในการจัดการเรียนการสอน แต่ข้อจำกัดของสถานศึกษาและจำนวนครูที่สอนแต่ประเภททำให้ไม่สามารถจัดชั้นเรียนให้ตรงกับคุณลักษณะของผู้เรียนได้ ในทางปฏิบัติมีแบ่งชั้นเรียนตามประเภทหลักสูตร เช่น หลักสูตรเวชกรรมเรียนวันเสาร์ เภสัชกรรม การเรียนวันอาทิตย์ โดยผู้เรียนทุกคนเรียนพร้อมกัน เมื่อผู้เรียนมีการรับรู้ที่ไม่เท่ากัน ครูจะมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนส่วนใหญ่ และหาวิธีเพิ่มเติมความรู้ให้กับผู้ที่รับรู้ช้า เช่น การสอนแบบบทกลอน การแลกเปลี่ยน ความรู้จากตำรากับประสบการณ์ของผู้เรียน นอกจากครูยังมีเพื่อนนักเรียนที่เรียนดีจะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน เช่น การบันทึกภาพและเสียงของครูทุกวิชา เพื่อนำมาทบทวนความรู้แต่ละครั้ง การร่วมกันจัดกิจกรรมทำยาสมุนไพร เช่น น้ำมันไพล ยาหม่อง ยาลม ซึ่งจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายจากประสบการณ์และการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในกลุ่มของผู้มอบตัวศิษย์ที่ต้องการศึกษาด้วยตนเองโดยไม่รับรู้การมอบตัวศิษย์ (คือไม่รับรู้ชื่อครู สถานศึกษา ปีพ.ศ.ที่สอบตัวศิษย์ ปีพ.ศ.ที่สอบได้ จำนวนครั้งที่สอบ) ที่อาจเรียนรู้ผ่านตัวอักษรจากตำราอย่างเดียวและทดสอบผ่าน แต่ขาดความรักและความศรัทธาในวิชาที่เรียน ซึ่งมีจำนวนเกือบกึ่งหนึ่งของจำนวนที่มอบตัวศิษย์ทั้งหมด นี่เป็นวิกฤติหนึ่งของคุณภาพของกำลังคนด้านการแพทย์แผนไทยที่มีสมองแต่ขาดด้านจิตวิญญาณในวิชาชีพ ส่วนครู ครูที่รับมอบตัวศิษย์ต้องมีหน้าที่ในการอบรมให้ความรู้กับศิษย์ตลอด ระยะเวลาที่ศึกษาตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แต่ในปัจจุบันครูบางกลุ่มเป็นเพียงสะพานทางเชื่อมผ่านให้ผู้เรียนมีสิทธิ์ในการทดสอบความรู้เท่านั้น ซึ่งมีจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง (ร้อยละ 44) ของการมอบตัวศิษย์ ที่ผู้เรียนไม่รับรู้การมอบตัวศิษย์ในส่วนของประเภทเวชกรรมมากที่สุดรองลงมาประเภทผดุงครรภ์ การนวดไทย และเภสัชกรรม (ร้อยละ 32 30 และ14 ตามลำดับ ในส่วนการรับรู้ชื่อครูรับมอบตัวศิษย์ ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างประเภทเวชกรรมจะรับรู้ชื่อครูระดับน้อยที่สุด ประเภทผดุงครรภ์และการนวดไทยรับรู้ชื่อครูระดับปานกลาง ส่วนประเภทที่รับรู้ชื่อครูมากที่สุด คือเภสัชกรรม สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อครูไม่ได้รับการอบรม ส่งเสริมและพัฒนาวิธีการเป็นครูที่ดีมีคุณธรรมจริยธรรม ไม่มีองค์กรครูที่หมั่นตรวจสอบและสร้างขวัญกำลังใจ ครูแพทย์แผนไทยจึงอยู่แบบโดดเดี่ยว เป็นปัจเจกชน ไร้องค์กรสังกัด รับมอบตัวศิษย์ได้ในเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งกว้างมาก ไม่มีระบบการติดตามประเมินผลในทางปฏิบัติทั้งพฤติกรรม คุณธรรมและจริยธรรมของครู ครูที่ดีที่มีใจรักในวิชาชีพ รับผิดชอบการเรียนการสอนในสถานศึกษาแบบให้เปล่า ไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีการยกย่องทางสังคม ไม่มีกระบวนการพัฒนาต่อยอด และการสร้างขวัญกำลังใจ แต่ด้วยใจรักในวิชาชีพครู ต้องการอนุรักษ์ให้องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยอยู่คู่กับสังคมไทย ยึดมั่นในอุดมการณ์ จึงสามารถยืนหยัดถ่ายทอดความรู้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 – 40 ปี จึงทำให้มีการเรียนการสอนจนถึงปัจจุบัน ความคิดเห็นของผู้เรียนต่อการเรียนแพทย์แผนไทย การเรียนการสอนแพทย์แผนไทยอาจมีข้อจำกัดด้านคุณภาพทั้งครู ผู้เรียน กระบวนการถ่ายทอดความรู้และสถานที่ฝึกปฏิบัติ แต่มีผู้เรียนเพิ่มขึ้นทุกปีในสัดส่วนที่ลดลง เพียงเพราะ ผู้เรียนต้องการใบประกอบโรคศิลปะ (ร้อยละ 75) รองลงมาต้องการความรู้ การพัฒนาความรู้ก-3 เดิม การสืบทอดความรู้ ร้อยละ 67 57 และ 54 ตามลำดับ ทำให้ผู้เรียนบากบั่นในการหาความรู้ และเข้าร่วมการทดสอบนับสิบครั้ง สอบแล้วสอบอีกจนกว่าจะสอบผ่าน ทำให้ผู้เรียนมุ่งการสอบมากกว่าการให้เชิงคุณค่าของวิชาชีพที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นวิทยาทานกับประชาชน ด้านการใช้ประโยชน์จากใบประกอบโรคศิลปะ ผู้เรียนมีความต้องการใช้ใบประกอบโรคศิลปะในการประกอบอาชีพประเภทเภสัชกรรม และการให้คำปรึกษาด้านแพทย์แผนไทยมากที่สุด (ร้อยละ42) รองลงมาให้บริการนวด อาชีพ การสอน การรักษา ในส่วนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในชีวิตมีเพียงร้อยละ 4 แนวทางในการปรับปรุงเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประเภท (ก) ควรสนับสนุนและส่งเสริมให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาระบบการเรียนการสอนการแพทย์แผนไทยประเภท (ก) ของแต่ละสถานศึกษาภายใน – ภายนอกภูมิภาคทั้งรัฐและเอกชน จัดทำตำราที่เหมาะสมกับพื้นที่และบูรณาการร่วมกับหลักสูตรกลาง ส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นองค์กรร่วมในการพัฒนาการแพทย์แผนไทย ทั้งด้านการพัฒนากำลังคน ด้านระบบข้อมูล ด้านระบบกองทุนสุขภาพ จัดทำระบบติดตาม การเฝ้าระวังครูที่รับมอบตัวศิษย์ เพื่อป้องกันกลุ่มบุคคลที่มีเป้าหมายเพื่อการค้า