บทคัดย่อ
ข้อมูลต้นทุนต่อหน่วยของหน่วยบริการเป็นข้อมูลที่จำเป็นที่ใช้ในการตัดสินใจของผู้บริหาร หน่วยงานกำกับดูแลและกองทุนที่เกี่ยวข้อง การศึกษาต้นทุนในอดีตเน้นที่ต้นทุนต่อจำนวนครั้งของการให้บริการผู้ป่วยนอกหรือต่อวันนอนผู้ป่วยใน หรืออาจจะใช้ข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากหลายแหล่งโดยอาจไม่ตรงกับข้อมูลทางบัญชี การศึกษาต้นทุนต่อหน่วยแยกตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) นี้ มุ่งเน้นที่จะ พัฒนาการวิธีการต้นทุนต่อหน่วยจากข้อมูลทางบัญชี และเปรียบเทียบต้นทุนดังกล่าวระหว่างหน่วยบริการกลุ่มโรงเรียนแพทย์และหน่วยบริการอื่นๆ โดยใช้วิธีวิจัยเชิงกรณีศึกษาซึ่งเลือกกรณีศึกษา จากหน่วยบริการที่มีความพร้อมทางข้อมูลเบื้องต้นในการจัดทำข้อมูลต้นทุนสำหรับปีงบประมาณ 30 กันยายน 2552 ผลการศึกษาพบว่า หน่วยบริการภาครัฐมีความพร้อมในด้านการบัญชีและการจัดรวบรวมข้อมูลที่แตกต่างกันไป กลุ่มที่มีศักยภาพสูงมีทรัพยากรทางสารสนเทศระดับการบริหารทรัพยากรองค์กร (ERP) ซึ่งสามารถรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หน่วยบริการส่วนใหญ่มีความพร้อมในระดับปานกลางซึ่งต้องได้รับการพัฒนาและลงทุนเพิ่ม อย่างไรก็ดีหน่วยบริการจำนวนหนึ่งที่ยังมีปัญหาต้องปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงการบันทึกบัญชีและรายงานการเงิน เพื่อให้เป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป และเพื่อให้ข้อมูลที่นำมาคำนวณรายงานต้นทุนนั้นมีความน่าเชื่อถือมากกว่าการนำเอาแนวคิดต้นทุนตามฐานกิจกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อรวบรวมต้นทุนต่อหน่วยจึงต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ต้นทุนที่แม่นยำและใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด จากการเปรียบเทียบค่ามัธยฐานของข้อมูลต้นทุนค่ารักษาพยาบาลระหว่างหน่วยบริการกลุ่มโรงเรียนแพทย์และกลุ่มอื่นๆ พบว่า ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลกลุ่มโรงเรียนแพทย์ซึ่งมีค่าดัชนีความซับซ้อนของโรคที่ทำการรักษาเฉลี่ย (CMI) สูงมีต้นทุนที่สูงกว่ากลุ่มอื่นโดยส่วนใหญ่เกิดมาจากส่วนของต้นทุนที่สัมพันธ์กับเงินเดือนค่าแรง ยาและเวชภัณฑ์ และอวัยวะเทียม ซึ่งต้นทุนในสองส่วนนี้เป็นต้นทุนที่สูงที่สุดตามโครงสร้างต้นทุนของโรงพยาบาล ข้อมูลเชิงคุณภาพยังแสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่หน่วยบริการกลุ่มโรงเรียนแพทย์จะมีความหลากหลายของบุคลากรและใช้บุคลากรจำนวนมากในการให้บริการรักษาพยาบาลหนึ่งครั้ง อย่างไรก็ดีต้นทุนในกลุ่มอื่น ๆ มีความใกล้เคียงกันในแต่ละหน่วยบริการ เมื่อเปรียบเทียบในระดับ DRG หน่วยบริการกลุ่มโรงเรียนแพทย์มีต้นทุนค่ารักษาพยาบาลส่วนใหญ่โดยเปรียบเทียบสูงกว่าหน่วยบริการที่ไม่ใช่โรงเรียนแพทย์ อนึ่ง งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นตามระเบียบวิจัยเชิงกรณีศึกษา ซึ่งเน้นการพัฒนาและสืบค้นข้อมูลเชิงลึกในแต่ละกรณีศึกษา จึงมีข้อจำกัดในการนำเอาข้อมูลไปใช้ในวงกว้าง อย่างไรก็ดีงานวิจัยในอนาคต ควรมุ่งพัฒนาการจัดเก็บข้อมูลทางบัญชีของหน่วยบริการจำนวนมากในประเทศไทย เพื่อให้สามารถขยายการศึกษาเชิงปริมาณเพื่อเสริมข้อมูลในวงกว้างด้วย