บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนารูปแบบเขตสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับบริบทประเทศไทย โดยกำหนดวัตถุประสงค์เฉพาะไว้ 4 ประการ คือ (1) เพื่อศึกษาแนวคิดและความเข้าใจเรื่องเขตสุขภาพที่ถูกต้อง (2) หารูปแบบการอภิบาลระบบเขตสุขภาพที่เหมาะสมในประเด็นโครงสร้างองค์กร บทบาทหน้าที่คณะกรรมการเขตสุขภาพและเขตสุขภาพ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการกำกับติดตามประเมินผลความเป็นอิสระในการดำเนินงาน และการจัดการที่ดีเพื่อนำไปสู่ธรรมาภิบาล (3) ศึกษารูปแบบการจัดบริการในเขตสุขภาพ ระบบการส่งต่อและการบูรณาการแบบมีส่วนร่วม และ (4) ศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จและล้มเหลวของการพัฒนาเขตสุขภาพ ซึ่งผลการศึกษาวิจัยจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะสำหรับพัฒนาเขตสุขภาพประเทศไทย วิธีการศึกษาประกอบด้วย 2 วิธีคือ การทบทวนวรรณกรรมทั้งต่างประเทศ และในประเทศกรณีประสบการณ์การซื้อบริการของ สปสช.สาขากทม. และวิธีวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การทบทวนวรรณกรรมศึกษาประสบการณ์จาก 6 ประเทศประกอบด้วยอังกฤษ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา นอร์เวย์ และสวีเดน โดยใช้หลักเกณฑ์การเลือกประเทศดังกล่าวเพราะคุณลักษณะคล้ายระบบสุขภาพประเทศไทย 4 ประการ คือ มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นแบบรัฐสวัสดิการ แหล่งเงินสุขภาพมาจากภาษีประชาชน ใช้กลไกตลาดแยกผู้ซื้อ และจัดบริการออกจากกัน และมีการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข การศึกษาใช้ การสืบค้นจากฐานข้อมูลอินเตอร์เน็ตและเอกสารวิชาการ จากนั้นนำมาวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (content analysis) และสังเคราะห์เพื่อวางกรอบการศึกษาเชิงคุณภาพ การศึกษาเชิงคุณภาพใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก ทั้งสัมภาษณ์เดี่ยว และกลุ่มซึ่งกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยผู้บริหาร สปสช. ทั้งส่วนกลางและเขตพื้นที่, เจ้าหน้าที่ สปสช., ผู้บริหารและบุคลากรระดับเขตกระทรวงสาธารณสุขและตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพัฒนาเขตสุขภาพ พื้นที่ศึกษาประกอบด้วยพื้นที่หลัก คือ สปสช.เขตนครชัยบุรินทร์ และกทม.พื้นที่เสริม คือ สปสช.เขตอุดรธานี สงขลาและพิษณุโลก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมการบันทึกข้อมูลใช้การอัดเสียง และถอดเสียงวิเคราะห์เชิงเนื้อหา นำเสนอเชิงพรรณนาประกอบตารางและภาพที่เกี่ยวข้อง