บทคัดย่อ
กำลังแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศไทย เป็นแรงงานซึ่งอยู่นอกระบบการจ้างงาน (Informal sector) ประกอบด้วย เกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้รับงานไปทำที่บ้าน ประมาณ 24 ล้านคน นั้นสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้โดยสมัครใจ ซึ่งการสมัครใจดังกล่าวในระบบประกันสังคมจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ลูกจ้างที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สามารถประกันตนต่อได้โดยสมัครใจภายในระยะเวลา 6 เดือนนับจากวันที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน เพื่อเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ส่วนบุคคลที่ไม่ใช่ลูกจ้างตามที่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนด แต่มีความประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนโดยความสมัครใจ ผู้ประกันตนประเภทนี้จะต้องจ่ายเงินสมทบเป็นรายปี ปีละ 3,360 บาท โดยที่ไม่มีรัฐบาลร่วมจ่าย และจะได้รับความคุ้มครอง เฉพาะกรณีคลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย เท่านั้น ตามมาตรา 40
การประกันสังคมภาคสมัครใจตามมาตรา 40 ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมเมื่อกันยายน 2553 พบว่ามีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพียง 63 คน เนื่องจากอัตราเงินสมทบสูงและชุดสิทธิประโยชน์ไม่ตรงตามความต้องการ
ปัจจุบันมีความพยายามที่จะปรับปรุงการประกันสังคมสำหรับแรงงานซึ่งอยู่นอกระบบการจ้างงาน โดยรัฐบาลได้ประกาศ “นโยบายประชาวิวัฒน์” ซึ่งครอบคลุมการปรับปรุงการจัดสวัสดิการแก่แรงงานนอกระบบ ภายใต้มาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม โดยที่รัฐบาลจะร่วมออกเงินสมทบ และให้ความคุ้มครองในกรณีทุพพลภาพ เสียชีวิต และเงินชดเชยกรณีเจ็บป่วย และหากต้องการได้รับบำเหน็จชราภาพเพิ่มก็ให้จ่ายเงินสมทบเพิ่ม รวมไปถึงการเร่งแก้ไข (ร่าง) พระราชกฤษฎีกา กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตน มาตรา 40 พ.ศ. .... ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และในขณะเดียวกันนี้รัฐสภาก็ได้ดำเนินการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งเสนอโดยสำนักงานประกันสังคม รวมถึง (ร่าง)พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับบูรณาการแรงงานที่ภาคประชาชน ได้มีการนำเสนอต่อรัฐสภา และผ่านการพิจารณาวาระแรกของสภาผู้แทนราษฎรแล้วในเดือนมกราคม พ.ศ. 2554
งานวิจัยครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ประกันภัยเพื่อตอบคำถามว่า การจัดสิทธิประโยชน์ให้กับแรงงานนอกระบบการจ้างงานตามมาตรา 40 นั้นมีค่าใช้จ่ายเท่าใด เพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจทางนโยบาย ในการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบพระราชกฤษฎีกา กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตน มาตรา 40 รวมทั้งการแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคมในภาพรวมที่กำลังดำเนินการอยู่ในรัฐสภาการคำนวณคณิตศาสตร์ประกันภัยใช้วิธีการวิเคราะห์โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์การประกันซึ่งปรับปรุงจากแบบจำลองคณิตศาสตร์การประกันสำหรับประมาณการค่าใช้จ่ายบริการสุขภาพ ซึ่งองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) หรือ ILO ร่วมกับนักวิจัยไทย โดยพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐศาสตร์มหภาค การเปลี่ยนแปลงการใช้บริการสุขภาพของกองทุนหลักประกันสุขภาพซึ่งมีผลต่อการใช้สิทธิประโยชน์ตามมาตรา 40 ทำการคาดการณ์ค่าใช้จ่ายจำแนกเป็นสิทธิประโยชน์ 4 เรื่อง คือ การทดแทนรายได้เมื่อเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ เสียชีวิต และ ชดเชยคลอดบุตร ส่วนต้นทุนค่าใช้จ่ายสิทธิประโยชน์ชราภาพไม่ได้วิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ประกันภัยเนื่องจากเป็นการจ่ายบำเหน็จซึ่งไม่ต่างจากการฝากเงินธนาคาร เปรียบเทียบกับรายรับจากเงินสมทบของผู้ประกันตนจำนวน 100 บาทต่อเดือน
ผลการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ประกันภัยพบว่า การทดแทนรายได้เมื่อเจ็บป่วย/อุบัติเหตุวันละ 200 บาท มีต้นทุนการประกันอยู่ในช่วง 120 – 225 บาทต่อคนต่อปี การชดเชยรายได้กรณีทุพพลภาพ เดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 15 ปี มีต้นทุนการประกันอยู่ในช่วง 16 - 209 บาทขึ้นกับจำนวนผู้ประกันตน การชดเชยกรณีเสียชีวิต 20,000 บาท มีต้นทุนการประกัน 56 - 61 บาทต่อคนต่อปีต่อ และ การชดเชยกรณีคลอดบุตรมีค่าใช้จ่ายอยู่ในช่วง 59 – 180 บาทต่อคนต่อปี ขึ้นกับจำนวนผู้ประกันตน
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะจัดการประกันสังคมตามมาตรา 40 เพื่อทดแทนรายได้เมื่อเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ และ ค่าฌาปนกิจศพเมื่อเสียชีวิต ตามที่ประชาชนกลุ่มแรงงานนอกระบบต้องการ โดยเก็บเงินสมทบที่อัตรา 100 บาทต่อเดือน โดยยังมีเงินเหลือสะสมอีกจานวนหนึ่ง โดยกองทุนจะมีความเสี่ยงจากปัญหา Adverse selection และ Compliance Rate แต่กองทุนสามารถลดความเสี่ยงนี้ได้โดยเน้นการประกันกลุ่ม โดยสำนักงานประกันสังคมต้องมียุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการประกันกลุ่มที่มีประสิทธิภาพ เช่น การจัดทำประกัน มาตรา 40 นี้ร่วมกับธนาคาร โดยให้ลูกค้าที่เข้ามาขอสินเชื่อกับธนาคารเข้าสู่ระบบกองทุนประกันสังคม มาตรา 40 การบริหารจัดการนี้จะทำให้กองทุนลดความเสี่ยงทั้งรายรับ และรายจ่าย และสามารถเพิ่มหรือขยายผลประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนได้สูงขึ้น เช่น ขยายครอบคลุมสิทธิประโยชน์การคลอดบุตร นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคมยังสามารถสร้างระบบประกันกลุ่มในระดับองค์กรชุมชน เช่น สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน หรือ สหกรณ์แท็กซี่ เป็นต้น
ส่วนสิทธิประโยชน์ด้านชราภาพ ในระยะยาวควรยกเลิกบำเหน็จ และจัดระบบให้การดำเนินการเป็นบำนาญถ้วนหน้า และพิจารณาเรื่อง Minimum Pension หรือ Basic Pension เพื่อช่วยผู้ที่มีบำนาญไม่พอเลี้ยงชีพต่อไป