บทคัดย่อ
ปัญหาค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงขึ้นเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญอันหนึ่งของประเทศไทย การครอบครองยาเกินจำเป็นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษานี้ขึ้นเพื่อ 1. ศึกษาขนาดและผลกระทบทางการคลังของการมียาครอบครองเกินจำเป็นในระดับประเทศ 2. ค้นหาสาเหตุของการที่ผู้ป่วยมียาครอบครองเกินจำเป็น 3. ค้นหาวิธีการทางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย การวิจัยออกเป็น 3 ระยะได้แก่ 1. ศึกษาขนาด ผลกระทบทางการคลังของการครอบครองยาเกินจำเป็นและปัจจัยที่ส่งผลต่อการครอบครองยาเกินจำเป็นโดยการวิเคราะห์ฐานข้อมูลยาในโรงพยาบาล 2. ศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ปัญหาโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกและทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ 3. จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายโดยการประชุมระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสุขภาพ จากการวิเคราะห์ข้อมูลยาในโรงพยาบาลพบว่าผู้ป่วยนอกมากกว่าครึ่งหนึ่งมีการครอบครองยาเกินจำเป็น (ปริมาณยา >100% ของปริมาณที่จำเป็น) ความชุกของปัญหาการครอบครองยาเกินจำเป็นเกิดขึ้นมากในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการและยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่มูลค่าความสูญเสียฯ เฉลี่ยต่อรายการในยานอกบัญชีฯ มีมูลค่าสูงกว่ารายการยาในบัญชีฯ ถึง 3 เท่า มีเพียงส่วนน้อยที่ปัญหาการครอบครองยาเกินจำเป็นเกิดจากผู้ป่วยรับยาตัวเดียวกันข้าม สถานพยาบาลจากการประมาณการณ์ในภาพรวม พบว่าประเทศสูญเสียทางการคลังโดยไม่จำเป็นจากการครอบครองยาเกินจำเป็นประมาณ 2,350ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.75% ของมูลค่าการบริโภคยาในประเทศ ไทย (National drug account) จากการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวน 35 คนพร้อมทั้งทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเพื่อหาสาเหตุและแนวทางแก้ปัญหาฯ สาเหตุของการครอบครองยาเกินจำเป็น ได้แก่ ระบบบริการของโรงพยาบาลที่ไม่คำนึงถึงการครอบครองยาเกินจำเป็น สิทธิการรับยาฟรี และรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสำหรับการจ่ายยาให้ตรงจำนวนวัน เป็นต้น ส่วนแนวทางในการแก้ปัญหาฯ เช่น พัฒนาระบบบริการและระบบข้อมูล เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถูกไปใช้เป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสุขภาพ จากการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสุขภาพจำนวน 2 ครั้งและการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายทางเลือก ทำให้ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ควรได้รับการพิจารณาสำหรับการแก้ปัญหาการครอบครองยาเกินจำเป็น ดังนี้ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 1. พัฒนาระบบในโรงพยาบาล a. พัฒนาระบบบริการ i. สร้างระบบตรวจสอบปริมาณยาก่อน/หลังพบแพทย์ ii. สร้างระบบบริการเติมยา b. พัฒนาระบบข้อมูล i. สร้างระบบคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบและเตือน 2. รณรงค์เพื่อเพิ่มความตระหนักด้านการครอบครองยาเกินจำเป็นแก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย การประยุกต์ใช้นโยบายมีข้อแนะนำดังนี้ - เนื่องด้วยปัญหาการครอบครองยาเกินจำเป็นส่วนใหญ่เกิดในรพ.ขนาดใหญ่ อาจเริ่มนโยบายที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ก่อน - อาจพิจารณาเริ่มนโยบายในกลุ่มสิทธิสวัสดิการข้าราชการก่อน หน่วยงานที่ควรพิจารณานำข้อเสนอแนะนี้ไปประยุกต์ใช้ได้แก่ - หน่วยบริการระดับโรงพยาบาลควรพิจารณานำข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบบริการและการพัฒนาระบบข้อมูลไปปรับใช้ - กองทุนที่เป็นผู้จ่ายในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะสวัสดิการข้าราชการควรพิจารณานำข้อเสนอแนะไปส่งเสริมให้หน่วยบริการระดับโรงพยาบาลและองค์กรวิชาชีพนำข้อเสนอแนะไปปรับใช้ - องค์กรวิชาชีพ ควรพิจารณานำข้อเสนอแนะการสร้างโครงการรณรงค์ฯ ไปปรับใช้