บทคัดย่อ
เพื่อแปรวิกฤตมหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 ให้เป็นโอกาส ระหว่างเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2555 คณะทำงานสังเคราะห์บทเรียนฯ ได้สืบค้นหลักฐานจากแหล่งต่างๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ แล้วประชุมคณะทำงานเพื่อวิเคราะห์เรียบเรียงเป็นรายงาน 2 รอบ ปรับแก้ยกร่างรายงานอีก 2 รอบ จนได้รายงานฉบับนี้
จากหลักฐานที่ค้นพบ บ่งชี้ว่า ระบบบริการสุขภาพไทย ณ ปัจจุบัน มีความพร้อมในระยะ ก่อนเกิดภัยน้อยที่สุด รองลงมาคือ การตอบโต้เมื่อเกิดภัย และการฟื้นฟูโดยลำดับ โดยที่ความพร้อมด้านการแพทย์มีมากกว่าด้านการสาธารณสุข สอดคล้องกับในยามปกติที่ระบบบริการการแพทย์เข้มแข็งมากกว่าระบบบริการสาธารณสุข เพราะประวัติศาสตร์การพัฒนามุ่งเน้นการรักษามากกว่าการป้องกันส่งเสริมสุขภาพ
จุดเด่นของระบบที่มีอยู่ ในด้านบริการสาธารณสุข คือ ระบบเฝ้าระวังโรค ของกรมควบคุมโรคที่สามารถแจ้งเตือนภัยโรคระบาดได้ครอบคลุมทั่วประเทศผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และยังพยายามผสมผสานกิจกรรมเฝ้าระวังโรคในหน่วยแพทย์ต่างๆ ในด้านการแพทย์ คือ ความยืดหยุ่นของเครือข่ายรพ.ในภูมิภาคของกระทรวงสาธารณสุข ที่สามารถรองรับคนไข้จากรพ.ในกทม. และไม่มีสถานพยาบาลใดในพื้นที่น้ำท่วมเสียหายจนต้องยุติบริการโดยสิ้นเชิง และประการสุดท้าย การฟื้นฟูสถานพยาบาลหลังน้ำท่วมเป็นไปอย่างค่อนข้างราบรื่น
โอกาสพัฒนาที่สำคัญมาก คือ ความชัดเจนของกลไกเจ้าภาพในส่วนกลางของกระทรวงสาธารณสุข ในลักษณะบริหารจัดการภาพรวม(การแพทย์และการสาธารณสุข)ได้ครบถ้วน ตั้งแต่ การวางแผน การซ้อมแผน การดำเนินแผน กำกับติตดามและประเมินผล การพัฒนาระบบสารสนเทศ รวมทั้งกระตุ้นความตื่นตัวใน ทุกระดับทุกพื้นที่ ทุกภาคส่วนได้ อย่างต่อเนื่องทั้งในยามปกติและเมื่อเกิดภัยพิบัติ บทเรียนที่ผ่านมาชวนให้เชื่อว่า ความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องของกลไกเจ้าภาพส่วนกลางของกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นจุดตั้งต้นสืบสานความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องของกลไกเจ้าภาพส่วนอื่นๆและนำไปสู่ความพร้อมในทุกระยะโดยลำดับ
การทบทวนบทเรียนครั้งนี้ประกอบกับองค์ความรู้ในสากลบ่งชี้ว่า องค์ประกอบสำคัญที่ให้หลักประกันความต่อเนื่องของกลไกเจ้าภาพ ได้แก่
1. ระบบบันไดวิชาชีพและการพัฒนากำลังคนที่เกื้อหนุนการสืบสานความเชี่ยวชาญ
2. งบประมาณรองรับพันธกิจบริหารจัดการภาพรวมอย่างสม่ำเสมอเพียงพอและคล่องตัว
3. การอภิบาลกลไกเจ้าภาพโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ โปร่งใส มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และใช้ความรู้ชี้นำ
4. ไม่เพียงระดับส่วนกลาง ความไม่ต่อเนื่องของบุคคลที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ ในทุกระดับ น่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญ ตั้งแต่การวางแผน ไปจนถึงการดำเนินงานตามแผน โดยออกอาการในรูปความสับสนของการประสานงาน การตัดสินใจสั่งการฉุกระหุก ขาดข่าวกรองที่ดี
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
มีกลไกเจ้าภาพส่วนกลางเพื่อบริหารจัดการภาพรวม ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขตั้งแต่การวางแผน การซ้อมแผนการดำเนินแผน(ฝึกอบรม พัฒนามาตรฐาน กฎหมาย กฎระเบียบ แนวทางปฎิบัติ พัฒนาระบบสารสนเทศระบบคลังสำรองเวชภัณฑ์/อุปกรณ์ กำกับติดดามและประเมินผล รวมทั้งการกระตุ้นความตื่นตัว ในทุกระดับ ทุกพื้นที่ ทุกภาคส่วน อย่างต่อเนื่อง ทั้งยามปกติและยามภัยพิบัติ
ทางเลือกแรก
1) จัดตั้งกลไกใหม่หรือยกระดับกลไกเดิม ในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขโดย
a) กำหนดให้ กลุ่มบุคลากรระดับนำของกลไกเจ้าภาพ มีบันไดวิชาชีพสูงสุดถึงขั้นซี 11 และกลุ่มสนับสนุนถึงขั้น ซี8 โดยประเมินจากผลสัมฤทธิ์การปฎิบัติงาน
b) จัดสรรงบประมาณให้กลไกเจ้าภาพเพื่อรองรับพันธกิจบริหารจัดการภาพรวมอย่างสม่ำเสมอเพียงพอและคล่องตัว
c) จัดระบบการอภิบาลกลไกเจ้าภาพโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ โปร่งใส ยึดการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และใช้ความรู้ชี้นำ
ทางเลือกที่สอง
มอบหมายสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ)ให้รับภาระกลไกเจ้าภาพดังกล่าว โดยขยายขอบเขตความรับผิดชอบให้ชัดเจนว่าครอบคลุมการบริหารจัดการบริการการแพทย์และบริการสาธารณสุข ซึ่งจำเป็นต้องย้ำให้ชัดเจนผ่านคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติในฐานะกลไกอภิบาลว่า สพฉ.ต้องทำหน้าที่บริหารจัดการระบบ แทนการผสมผสานสองบทบาท คือ บริหารจัดการและดำเนินการ ดังเช่นที่ผ่านมา