บทคัดย่อ
ปัญหาอุทกภัยปี พ.ศ. 2554 ได้สร้างความเสียหายแก่ประเทศและประชาชนจำนวนมาก แม้ว่าหน่วยงานต่างๆ จะได้พยายามอย่างเต็มที่ในการเยียวยาความเดือดร้อนดังกล่าว เมื่อปัญหาดังกล่าวทุเลาลงหน่วยงานหลายภาคส่วนจึงให้ความสนใจถอดบทเรียนเพื่อพลิกวิกฤติเป็นโอกาสพัฒนา สำหรับหน่วยงานด้านสุขภาพต่างๆ อาทิเช่น สำนักบริหารการสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ฯลฯ ต่างได้ดำเนินการถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการรับมือกับภัยพิบัติของหน่วยงานนั้นๆ ในโอกาสต่อไป สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขพบว่า บทเรียนที่หน่วยงานต่างๆ สรุปขึ้นเป็นข้อมูลและความรู้ที่ทรงคุณค่ายิ่ง แต่จะมีประโยชน์มากขึ้น หากได้บูรณาการความรู้ทั้งหมดเข้าด้วยกัน เป็นความรู้เชิงระบบเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาอุทกภัยและภัยพิบัติอื่นๆ ในอนาคต บทเรียนที่นำเสนอในครั้งนี้มุ่งเน้นมิติสุขภาพเป็นหลัก และพุ่งประเด็นไปยังการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเป็นสำคัญ โดยประมวลบทเรียนของหน่วยงานดังกล่าว ร่วมกับทบทวนเอกสารวิชาการ พร้อมนำผลการสำรวจ ครัวเรือนประสบภัยในพื้นที่น้ำท่วม 61 จังหวัดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผ่านการสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประทศ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก มาประกอบการสังเคราะห์ให้ได้บทเรียนที่สะท้อนมิติสุขภาพอย่างครอบคลุม บทเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่ความรู้ใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เราได้รับการพร่ำสอน ผ่านสำนวนสุภาษิต คำพังเพยมาตั้งแต่เด็ก การละเลยข้อคิดดีๆ เหล่านี้ได้ ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ดังปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าจะการบริหารจัดการ การประสานงาน การตัดสินใจ และระบบสารสนเทศ ความท้าทายของกระบวนการ ถอดบทเรียนจึงมิใช่เพียงให้ได้มาซึ่งบทเรียน แต่เป็นการเสนอบทเรียนเหล่านี้แก่ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อผิดพลาดเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกครั้งที่เผชิญภัยพิบัติ ซึ่งมีแนวโน้มจะอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราในอนาคต ทั้งนี้ ด้วยความหวังหลักว่าโอกาสสูญเสียชีวิตก็ดี สูญเสียทรัพย์สินก็ดี ทุกข์ทรมานกายและใจก็ดีจะเกิดขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้