บทคัดย่อ
ปัจจุบันในประเทศไทยมียา Alendronate ขนาด 70 มิลลิกรัม แบบรับประทานสัปดาห์ละครั้ง ในรูปแบบยาสามัญ (generic product) ที่มีราคายาลดลงเหลือ 8,467.16 บาทต่อปี และมียา Risedronate ชนิดยาต้นแบบ (original product) ขนาด 35 มิลลิกรัม แบบรับประทานสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งราคาใกล้เคียงกับ Alendronate ชนิดยาต้นแบบ การศึกษานี้ประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้ยา Alendronate (ราคายาสามัญ) และ Risedronate (ราคายาต้นแบบ) เปรียบเทียบกับการรักษาตามปกติในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน กรณี primary prevention and treatment และกรณี secondary prevention ในมุมมองของผู้ให้บริการ (Healthcare provider perspective) โดยพิจารณาเฉพาะต้นทุนทางตรง (direct health care cost) วิเคราะห์ในรูปของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อปีชีพที่มีคุณภาพ (Incremental cost effectiveness ratio, ICER) มีหน่วยเป็นบาทต่อ quality adjusted life years (QALY) ในกลุ่มที่มีอายุ 45, 50, 55, 60, 65, 70, 75 และ 80 ปีขึ้นไป กำหนดกรอบระยะเวลาที่ศึกษา คือ 10 ปี โดยปรับลดค่าของต้นทุนและประสิทธิผล ร้อยละ 3 กรณี primary prevention and treatment : กำหนดระยะเวลาการให้ยาเท่ากับ 5 ปี โดยมีความร่วมมือในการใช้ยา 50% คือให้ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยกินยาเป็นระยะเวลานาน 5 ปี ส่วนอีกร้อยละ 50 ของผู้ป่วยกินยาเพียง 3 เดือนแรกโดยไม่มีประสิทธิผลในการรักษา สำหรับกลุ่มที่ได้รับยากำหนดให้ประสิทธิผลหลังหยุดยาแล้วลดลงแบบเส้นตรง ภายในระยะเวลา 5 ปี ผลการศึกษาพบว่าค่า ICER ของยา Alendronate (ราคายาสามัญ) และRisedronate (ราคายา ต้นแบบ) มีค่าเกินกว่า 3 เท่าของรายได้ประชาชาติต่อหัว หรือ 292,053 บาท ในทุกกลุ่มอายุและแม้ว่าจะกำหนดให้ผู้ป่วยมีความร่วมมือในการใช้ยาเพิ่มขึ้นจาก 50% เป็น 100% ก็ยังไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในทุกกลุ่มอายุเมื่อปรับลดราคายา Alendronate ลดลงเหลือ 20% ของราคาปัจจุบัน (เท่ากับเม็ดละ 33 บาท คิดเป็นค่าใช้จ่าย 1,693 บาทต่อปี) ค่า ICER สูงกว่า 1 เท่าของรายได้ประชาชาติต่อหัว ยกเว้นที่อายุ 80 ปี แต่เมื่อเทียบกับ 3 เท่าของรายได้ประชาชาติต่อหัว พบว่าจะมีความคุ้มค่าในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่หากปรับลดราคาลงเหลือ 40% ของราคาปัจจุบัน จะคุ้มค่าเฉพาะในกลุ่มอายุ 80 ปี ในขณะที่ยา Risedronate (ราคายาต้นแบบ) จะคุ้มค่า (เมื่อเทียบกับ 3 เท่าของรายได้ประชาชาติต่อหัว) ในกรณีปรับราคายาลดลงเหลือ 20% ของราคาปัจจุบัน และใช้ในกลุ่มอายุ 80 ปีเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ โรคข้ออักเสบรูห์มาตอยด์ การใช้ยา glucocorticoid มีประวัติบิดา/มารดากระดูกสะโพกหัก การดื่มสุรา และการสูบบุหรี่ โดยใช้ข้อมูลจาก FRAX ของเชื้อชาติสิงคโปร์เชื้อสายมาเลย์ (Singapore [Malay]) กำหนดให้ค่า Tscore BMD เท่ากับ -2.5 และ BMI 24 kg/m2 (ค่าเฉลี่ยของหญิงไทย) พบว่าจะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ (เมื่อเทียบกับ 3 เท่าของรายได้ประชาชาติต่อหัว) เฉพาะกรณีต่อไปนี้: • การใช้ยา Alendronate (ราคายาสามัญ) ในกลุ่มอายุ 75 และ 80 ปี ที่มีประวัติบิดา/มารดากระดูกสะโพกหัก • การใช้ยา Alendronate (ราคายาสามัญ) ที่ราคาปรับลดลงเหลือ 20%ของราคาปัจจุบัน ในกลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้ คือ โรคข้ออักเสบรูห์มาตอยด์และอายุ 65 ปีขึ้นไป; การใช้ยา glucocorticoid และอายุ 55 ปีขึ้นไป; และประวัติบิดา/มารดากระดูกสะโพกหักและอายุ 60 ปีขึ้นไป • การใช้ยา Risedronate (ราคายาต้นแบบ) ที่ราคาปรับลดลงเหลือ 20% ของราคาปัจจุบัน ในกลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้ คือ โรคข้ออักเสบรูห์มาตอยด์และอายุ 75 ปีขึ้นไป; การใช้ยา glucocorticoid และอายุ 75 ปีขึ้นไป; และประวัติบิดา/มารดากระดูกสะโพกหักและอายุ 70 ปีขึ้นไป• ผลการวิเคราะห์ความไวเมื่อปรับเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อปีของการรักษาภาวะกระดูกหัก ร้อยละ 25 และร้อยละ 50 พบว่าค่า ICER ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับค่าที่ได้จากการคำนวณจากตัวแบบจำลองพื้นฐาน และไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เช่นกัน กรณี Secondary prevention : กำหนดระยะเวลาการให้ยาเท่ากับ 10 ปี โดยมีความร่วมมือในการใช้ยา 100% ผลการศึกษาพบว่าค่า ICER ของยา Alendronate (ราคายาสามัญ) และ Risedronate (ราคายาต้นแบบ) มีค่าเกินกว่า 3 เท่าของรายได้ประชาชาติต่อหัวในทุกช่วงอายุ การใช้ยา Alendronate (ราคายาสามัญ) จะคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ (เมื่อเทียบกับ 3 เท่าของรายได้ประชาชาติต่อหัว) ในทุกลุ่มอายุก็ต่อเมื่อมีการปรับลดราคาเหลือน้อยกว่าหรือเท่ากับ 60% ของราคาปัจจุบัน แต่หากราคายาลดลงเหลือ 80% ของราคาปัจจุบัน จะมีความคุ้มค่ากรณีใช้ในกลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไป การใช้ยา Risedronate (ราคายาต้นแบบ) จะมีความคุ้มค่า (เมื่อเทียบกับ 3 เท่า ของรายได้ประชาชาติต่อหัว) ในทุกกลุ่มอายุก็ต่อเมื่อปรับลดราคายาเหลือ 20% ของราคาปัจจุบัน เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงพบว่าจะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ (เมื่อเทียบกับ 3 เท่าของรายได้ประชาชาติต่อหัว) เฉพาะกรณีต่อไปนี้: • การใช้ยา Alendronate (ราคายาสามัญ) ในกลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้ โรคข้ออักเสบรูห์มาตอยด์และอายุ 55 หรือ 65 ปี; การใช้ยา glucocorticoid ในทุกกลุ่มอายุ; ประวัติบิดา/มารดากระดูกสะโพกหักในทุกกลุ่มอายุ; ประวัติดื่มสุรา และอายุ 55 หรือ 65 ปี; ประวัติสูบบุหรี่ และอายุ 55 ปี • การใช้ยา Alendronate (ราคายาสามัญ) ที่ปรับลดราคายาเหลือ 80% ของราคาปัจจุบันในทุกกลุ่มอายุที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคข้ออักเสบรูห์มาตอยด์ การใช้ยา glucocorticoid มีประวัติบิดา/มารดากระดูกสะโพกหัก • การใช้ยา Risedronate (ราคายาต้นแบบ) ที่ปรับลดลงเหลือ 20% ของราคาปัจจุบัน ในทุกกลุ่มอายุที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคข้ออักเสบรูห์มาตอยด์การใช้ยา glucocorticoid มีประวัติบิดา/มารดากระดูกสะโพกหักนอกจากนี้ เมื่อปรับค่าความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพิจารณาเริ่มให้การรักษาโดยกำหนดให้ความเสี่ยงของการเกิดกระดูกสะโพกหักใน 10 ปี เท่ากับ 3% พบว่าค่า ICER ลดลงค่อนข้างมากทั้งยา Alendronate (ราคายาสามัญ) และ Risedronate (ราคายาต้นแบบ) แต่ยังไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เมื่อเทียบกับ 3 เท่าของรายได้ประชาชาติต่อหัว ทั้งกรณี Primary prevention and treatment และ Secondary prevention แต่หากความเสี่ยงของการเกิดกระดูกสะโพกหักใน 10 ปี เท่ากับ 10% พบว่าการใช้ยา Alendronate (ราคายาสามัญ) จะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในการใช้รักษาแบบ Primary prevention and treatment ในกลุ่มอายุ 45-70 ปี