บทคัดย่อ
งานคุ้มครองผู้บริโภคมีประเด็นที่หลากหลาย ซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามปัจจัยต่าง ๆ องค์การสหประชาชาติและหลายประเทศให้ความสำคัญในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะ การสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรผู้บริโภค การมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการเสนอแนะประเด็นต่าง ๆ ต่อภาครัฐ การสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคหลายฉบับ และมีหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหลายหน่วยงาน แต่ก็ยังไม่มีการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคทั่วไปหรือการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพเป็นการเฉพาะ อีกทั้งงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ผ่านมามักจะเป็นบทบาทของภาครัฐเป็นหลัก แต่หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคก็มีข้อจำกัดหลายประการในการปฏิบัติงาน ทำให้ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลการศึกษาทบทวนสถานการณ์ด้านงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 หมวด 8 การคุ้มครองผู้บริโภค ได้ข้อสรุปสำคัญคือ ประเด็นส่วนใหญ่ในธรรมนูญ ฯ หมวด 8 ยังไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่ระบุไว้ เนื่องจากมีอุปสรรคหรือปัญหาบางประการ ประกอบกับเนื้อหาสาระของธรรมนูญ ฯ หมวด 8 ไม่มีลักษณะจำเพาะเจาะจงในบางประเด็น และไม่มีการกำหนดเจ้าภาพว่ากรณีดังกล่าวหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรใดที่ควรเป็นผู้รับผิดชอบหลัก จึงทำให้ไม่สามารถระบุว่าภาครัฐหรือหน่วยงานใดมีหน้าที่อย่างไรบ้างในแต่ละเรื่อง ในทางปฏิบัติจึงมีการนำธรรมนูญฯ มาใช้ประกอบกับกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เมื่อได้เป็นมติเฉพาะเรื่องแล้ว จะมีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ แต่ก็ยังพบปัญหากรณีที่หน่วยงานบางองค์กร ยังมิได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างครบถ้วน ประเด็นท้าทายหรือภัยคุกคามในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพในปัจจุบันและอนาคต มีดังนี้ 1. การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสินค้า : ประเด็นการโฆษณาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น หน่วยงานของรัฐขาดระบบเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพ 2. การคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการ : ประเด็นการให้บริการสาธารณสุขเชิงพาณิชย์ เช่น ภาครัฐไม่มีมาตรการควบคุมบริการสาธารณสุขที่เข้าสู่ระบบธุรกิจ ทำให้อัตราค่าใช้จ่ายในการรับบริการในภาคเอกชนค่อนข้างสูง ผู้รับบริการที่เป็นผู้บริโภคอาจถูกเอารัดเอาเปรียบได้ 3. ผลกระทบจากการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการเข้าถึงยาของประชาชนที่เกิดจากยา มีสิทธิบัตรที่นำเข้าจากต่างประเทศ 4. การประสานงานและศักยภาพของหน่วยงานของรัฐ เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ บุคลากร และวัฒนธรรมการทำงานของหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นเชิงรับมากกว่าเชิงรุก 5. การทำงานขององค์กรผู้บริโภคยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ขาดความเข้มแข็งและต่อเนื่องในการดำเนินงานการทำให้ธรรมนูญ ฯ เครื่องมือในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพของประเทศตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 จึงควรปรับปรุงเนื้อหาในธรรมนูญ ฯ หมวด 8 ให้มีความสมบูรณ์ขึ้น และทันต่อสถานการณ์หรือสภาพปัญหาในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพในอนาคต ดังที่ผู้วิจัยได้เสนอแนวทางการแก้ไขปรับปรุงในรายงานฉบับนี้ และควรปรับปรุงกลไกการผลักดันให้ธรรมนูญ ฯ หมวด 8 เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม