บทคัดย่อ
การศึกษาปัจจัยครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมล้างมือและใช้อุปกรณ์การควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาลของบุคลากรทางการแพทย์ และ 2. ศึกษาการรับรู้ของสื่อมวลชนต่อปัญหาเชื้อดื้อยาเพื่อวางแผนการสื่อสารเพื่อปรับพฤติกรรมและการสื่อสารสาธารณะ
การศึกษาครั้งนี้ดำเนินการในช่วงวันที่ 22 – 26 กุมภาพันธ์ 2556 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบด้วย กลุ่มพยาบาล กลุ่มแพทย์ประจำบ้าน และกลุ่มนักศึกษาแพทย์ ซึ่งปฏิบัติงานหรือศึกษาอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จำนวนกลุ่มละ 14 -15 คน โดยกลุ่มพยาบาลนั้นแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ พยาบาลจากสถาบันบำราศนราดูร และ จากศิริราชพยาบาล มุ่งเน้นศึกษาและวิเคราะห์ปัจจัย 4 ประการ ตามทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน (Theory of Planned Behavior)
ในกลุ่มสื่อมวลชนนั้น มีสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าร่วมสนทนารวม 17 คน โดยใช้กรอบแนวคิด องค์ประกอบของข่าว (News Element) เป็นหลักในการวิเคราะห์สิ่งที่ค้นพบ
ผลการศึกษากลุ่มบุคลากรทางการแพทย์พบว่า ปัจจัยด้าน เจตคติต่อพฤติกรรม (Attitude toward the Behavior) นั้น ทุกกลุ่มมีเจตคติที่ดี โดยเฉพาะรู้ว่าพฤติกรรมนี้ควรต้องทำเพราะประโยชน์แรกจะตกอยู่กับผู้ป่วย แต่ก็มีเจตคติเชิงลบอยู่เช่นกัน เช่น เป็นเรื่องยุ่งยาก ไม่แน่ใจว่าทำความสะอาดแล้วป้องกันการแพร่เชื้อได้จริงแค่ไหน ทำความสะอาดมือแล้วทำให้มือลอก โดยสรุปคือ พฤติกรรมที่พึงประสงค์นี้แม้กลุ่มเป้าหมายเห็นว่าดี แต่ก็เห็นว่ามีผลเสียที่ตามมาต่อตนเองด้วย ประเด็นสำคัญที่สุดคือ กลุ่มแพทย์ยอมรับว่า เลือกที่จะใช้วิจารณญาณว่ากรณีใด จึงควรจะทำความสะอาดมือหรือสวมอุปกรณ์ป้องกันฯ แทนที่จะทำตามข้อบ่งชี้
ปัจจัยด้าน การคล้อยตามกลุ่มอ้างอิง (Subjective Norm) พบว่า แต่ละกลุ่มมีกลุ่มอ้างอิงต่างกันไป โดยพยาบาลได้รับอิทธิพลเชิงนโยบาย แต่กลุ่มนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน มีกลุ่มอ้างอิงหลักคืออาจารย์ และหัวหน้าพยาบาลประจำตึก ประเด็นน่าสนใจก็คือ แม้ว่าทุกกลุ่มจะบอกว่า ที่ทำพฤติกรรมเหล่านี้ก็เพราะเห็นแก่คนไข้เป็นหลัก แต่ก็มิได้หมายความว่า ผู้ป่วยเหมาะที่จะใช้เป็นกลุ่มอ้างอิงที่สามารถมีอิทธิพลในการบอก เตือน หรือย้ำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำพฤติกรรมดังกล่าว เพราะบุคลากรจะรู้สึกเสียหน้าและขัดเคืองใจมากกว่าที่จะรู้สึกดี ปัจจัยด้าน การรับรู้ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม (Perceived Behavioral Control) ในสามกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์นั้น จะเห็นว่า กลุ่มแพทย์และนักศึกษาแพทย์มีปัจจัยเชิงลบ เช่น ภาระงานมาก มีปัญหาเวลาและอุปกรณ์ไม่พร้อม และยังมีความมั่นใจในความรู้น้อยกว่ากลุ่มพยาบาล ดังที่มีผู้ยอมรับว่า “บางทีอาจเป็นการคิดว่ารู้แต่จริง ๆ แล้วไม่รู้” ทำให้ไม่สามารถควบคุมได้ว่าตนจะสามารถทำตามข้อบ่งชี้ได้ทั้งหมด
โดยสรุป จากฐานเจตคติทั้ง 3 ด้าน จึงส่งผลต่อ “ความตั้งใจ” (Intention) และ “พฤติกรรม” (Behavior) ที่พบว่า แม้ว่าทุกกลุ่มจะเห็นว่าเป็นเรื่องดี เห็นประโยชน์ และปรารถนาดีต่อคนไข้ จึงทำให้มีความตั้งใจเต็มร้อยเท่ากัน แต่มีการลงมือปฏิบัติจริงมากน้อยไม่เท่ากัน กลุ่มพยาบาลซึ่งมั่นใจเต็มที่ในความรู้เรื่องการทำความสะอาดมือฯ ทั้งยังได้รับอิทธิพลจากกลุ่มอ้างอิงและนโยบายมากกว่า จะมีการปฏิบัติจริงน้อยมากกว่า เมื่อปฏิบัติมากก็เกิดประสบการณ์มาก และเกิดความตระหนักมากกว่า
จากการศึกษาครั้งนี้พบว่า “สื่อบุคคล” เช่น อาจารย์แพทย์ และหัวหน้าพยาบาล มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมากที่สุด สื่อที่พบเห็นบ่อยและเข้าถึงบุคลากรทุกกลุ่มก็คือโปสเตอร์ที่ติดบริเวณที่ทำความสะอาดมือ สื่อรณรงค์ที่ทุกกลุ่มกล่าวถึงว่าจะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดความตระหนักคือ เครื่องส่องมือ ส่วนช่องทางสื่ออื่น ๆ คือ เสียงตามสาย หรือสื่อบันเทิงที่เข้าใจง่าย และน่าสนใจ โดยสื่อที่พบเห็นในปัจจุบันมีข้อดีคือให้ความรู้เรื่องขั้นตอนการปฏิบัติ แต่ข้อด้อยคือ ขาดประสิทธิภาพในเชิงการโน้มนาวใจ การสัมผัสอารมณ์ความรู้สึก หรือการสร้างความตระหนัก และการรณรงค์ยังขาดความต่อเนื่อง
สื่อที่อยากเห็นในอนาคตจึงเป็นสื่อที่ดูแล้วสะเทือนใจ ให้แรงบันดาลใจ ในขณะที่สื่อที่ให้ความรู้และแนวทางปฏิบัติยังคงจำเป็นต้องมีอยู่ ประเด็นสำคัญประการแรกที่ควรต้อเร่งสื่อสาร คือ การสร้างความเชื่อมั่นว่า มาตรการหรือข้อบ่งชี้เหล่านี้ เป็นมาตรการที่ได้ผลหรือมีผลต่อการป้องกันการแพร่กระจายเชื้ออย่างแน่นอน ซึ่งจำต้องหาหลักฐานเชิงวิชาการมายืนยัน
ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะเรื่องการสื่อสารกับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ต้องมุ่งสู่การทำให้เกิดพฤติกรรม มิใช่เพียงการสร้างกระแส หรือสร้างการรับรู้ ควรกระตุ้นที่วิธีคิด สร้างความเชื่อด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ และเอื้ออำนวยให้ทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้โดยสะดวก ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่หาง่ายหยิบใช้สะดวก รวมทั้งพัฒนาและใช้กรอบหรือมาตรการเชิงนโยบายเข้ามาทำให้เกิดผลที่ยั่งยืน
เนื่องจากประเด็นการคล้อยตามกลุ่มอ้างอิงนั้น ยังเชื่อมโยงไปถึง “Social Norm” หรือ บรรทัดฐาน ค่านิยมในสังคม กล่าวให้เข้าใจง่ายก็คือ คือ บุคคลย่อมได้รับอิทธิพลจากกระแสสังคม ซึ่งสื่อมวลชนคือเครื่องมือสำคัญที่สามารถนำมาใช้ในการสร้างกระแส จนถึง ส่งเสริม หล่อหลอม และขัดเกลา ค่านิยมของคนในสังคมจนกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมในที่สุด ในส่วนที่ 2 ของการศึกษาครั้งนี้ จึงได้ศึกษาแนวทางการใช้สื่อมวลชนเพื่อแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาจุลชีพด้วย
สำหรับการศึกษาการรับรู้ของสื่อมวลชนนั้น พบว่า สื่อมวลชนมีทั้งที่รู้เรื่องสาธารณสุขและแทบไม่รู้อะไรเลย สื่อที่มาร่วมสนทนาหลายคนเรียกยาปฏิชีวนะว่ายาแก้อักเสบด้วยซ้ำ บ่งบอกถึงระดับความรู้เรื่องนี้ที่มีน้อยมาก และสับสนระหว่างเชื้อดื้อยากับคำว่าแพ้ยา
ในแง่ของการมองหาประเด็นเพื่อนำเสนอข่าว แม้สื่อประเมินว่าเรื่องนี้สำคัญและน่ากลัว แต่สื่อก็ยังคงใช้จมูกข่าวในลักษณะเดียวกันในการมองหาข่าวอื่น ๆ นั่นคือ สื่อจะมองหาประเด็นข่าวที่สอดคล้องกับหลักองค์ประกอบข่าว (News Element) เช่น มองหาว่าเรื่องนี้มีผลกระทบกว้างขวางร้ายแรงเพียงใด (Consequence) ผู้มีชื่อเสียงมาเกี่ยวข้องหรือไม่ นโยบายว่าอย่างไร สูญเสียแค่ไหน สื่อต้องการคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญ และจากผู้กำหนดนโยบาย และผู้ได้รับผลกระทบหรือผู้ป่วย เพราะสื่อต้องการให้เรื่องราวที่นำเสนอออกไปมีความเป็นรูปธรรมและน่าเชื่อถือ สื่อยังสนใจอยากได้ข้อมูลที่เป็นคำแนะนำสำหรับประชาชน เพราะสื่อมีหน้าที่ช่วยให้ความรู้แก่สังคมด้วย สื่อให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายทั้งที่เป็นผู้มีการศึกษาและการศึกษาต่ำ เนื่องจากปัญหานี้สื่อมองว่าเป็นปัญหาของคนทุกกลุ่ม
ดังนั้น การสื่อสารสารผ่านสื่อมวลชนในประเด็นปัญหาเชื้อดื้อยา ควรมีการจัดกิจกรรมเชิงวิชาการกับสื่อมวลชนเพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจให้สื่อมวลชนอย่างน้อยกลุ่มหนึ่งเป็นแนวร่วมที่เข้าใจเชิงลึกมากกว่าประชาชนทั่วไป และสร้างความเข้าใจถึงประเด็นความห่วงใยละเอียดอ่อนเพื่อขอให้สื่อร่วมมือในการสื่อสารอย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม การใช้สื่อที่มีพื้นที่หรือเวลามากพอ เช่น สารคดี หรือบทความ ร่วมกับสื่อที่ดึงดูดความสนใจสร้างการรับรู้ในวงกว้าง และผสมผสานการใช้สื่อที่เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง แม้แต่รถเร่ หรือหอกระจายข่าว วิทยุชุมชน ละครพื้นบ้านที่ชุมชนเป็นผู้แสดงเอง และการสร้าง “สื่อบุคคล” เพื่อให้เกิดการบอกต่อ หรือ ปากต่อปาก ซึ่งนับเป็นสื่อทรงพลังที่สามารถนำสังคมสู่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ต้องการได้
จากการคาดการณ์อนาคตถึงสิ่งที่เป็นไปได้ที่จะเกิดหากมีการสื่อสารเรื่องนี้ออกไป อาจเกิดความตื่นตระหนกจนกลายเป็นไม่กล้าใช้ยาปฏิชีวนะทั้งที่จำเป็นต้องใช้ อาจเกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์วงการสาธารณสุขไทยหรือแม้แต่การท่องเที่ยวไทย แต่สื่อมวลชนยืนยันว่า ข้อมูลที่เป็นจริงจะต้องถูกนำเสนอให้สังคมรับรู้อย่างชัดเจนและเพียงพอแทนที่จะถูกปกปิดไว้ เพื่อให้สังคมร่วมรับรู้ รับผิดชอบ และก้าวผ่านปัญหาใหญ่ ๆ ไปพร้อมกันในที่สุด