บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา วิเคราะห์ขบวนการแพทย์ชนบทด้วยมุมมองเชิงวิพากษ์ให้ได้มาซึ่งบทเรียน จุดแข็งจุดอ่อน และวิวัฒนาการที่มีผลต่อระบบธรรมาภิบาลสุขภาพไทย โดยมีคำถามวิจัยที่สำคัญคือ ขบวนการแพทย์ชนบทที่มีพัฒนาการกว่า ๓ ทศวรรษ มีการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับบริบททางประวัติศาสตร์แต่ละช่วงอย่างไร พัฒนาการดังกล่าวส่งผลต่อสถานภาพของขบวนการแพทย์ชนบทในบริบทของความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้สถานการณ์ทางสังคมการเมืองปัจจุบันที่มีมีการแบ่งฝักฝ่าย และเต็มไปด้วยความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์และอุดมการณ์ การเคลื่อนไหวของขบวนการแพทย์ชนบทต้องเผชิญกับความขัดแย้ง การต่อรอง ต่อต้านขัดขืนอย่างไร และในการสร้างธรรมาภิบาลระบบสุขภาพไทยในอนาคต ขบวนการแพทย์ชนบทจะต้องปรับตัวต่อไปอย่างไร
การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ ใช้การศึกษาจากเอกสารทั้งปฐมภูมิและทุติยภูมิ การสัมมนาผู้รู้เห็น (Witness Seminar) การคัดเลือกและวิเคราะห์กรณีศึกษาการเคลื่อนไหวของขบวนการแพทย์ชนบทจากสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกอื่นๆ และการสัมภาษณ์เจาะลึกบุคคลกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ระยะเวลาทำการศึกษา ๘ เดือน
จากการศึกษาพบว่า ขบวนการแพทย์ชนบทมีการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างธรรมาภิบาลระบบสุขภาพที่สัมพันธ์กับบริบททางประวัติศาสตร์ โดยมีการปรับบทบาทอย่างสัมพันธ์กับปัญหาธรรมาภิบาลของระบบสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุค การทำความเข้าใจถึงบทบาทด้านธรรมาภิบาลของขบวนการแพทย์ชนบทจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงบริบททางประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกัน แนวคิดเรื่อง “ธรรมาภิบาล” หรือ “การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี” รวมทั้งวิถีทางในการสร้างสรรค์ธรรมาภิบาลก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางประวัติศาสตร์และเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมด้วย