บทคัดย่อ
การติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยและมีความสำคัญทั้งการติดเชื้อในโรงพยาบาลและการติดเชื้อในชุมชน การติดเชื้อในโรงพยาบาลมักเกิดจากการติดเชื้อที่ดื้อยาต้านจุลชีพ การดื้อยาต้านจุลชีพของ Acinetobactor baumannii, Escherichia coli และ Klebsiella pneumoniae มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีอัตราการดื้อยาต้านจุลชีพหลายขนานมากกว่าร้อยละ 60 โรคติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพหลายขนานบางชนิดต้องใช้ยารักษาที่มีราคาแพงมากและเชื้อดื้อยาบางชนิดไม่มียาต้านจุลชีพที่มีประสิทธิผลดีและปลอดภัยสำหรับรักษา ทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานขึ้น มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพสามารถแพร่กระจายไปสู่สิ่งแวดล้อม ผู้ป่วยรายอื่น และชุมชนได้ นอกจากนี้ เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพยังถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมดื้อยาไปยังเชื้อสายพันธุ์อื่นทำให้ขนาดปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพทวีความรุนแรงมากขึ้น ข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพและทางเศรษฐศาสตร์จากการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทยมีจำกัด ในการศึกษานี้จึงได้ประเมินผลกระทบของการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพต่อสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยมุมมองของสังคม โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิของผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลทุกระดับและข้อมูลการติดเชื้อในโรงพยาบาล การประมาณขนาดของผลกระทบดังกล่าวของ พ.ศ. 2553 ผลการศึกษาพบมีการติดเชื้อในโรงพยาบาลจากแบคทีเรียสำคัญ 5 ชนิด (Escherichia coli และ Klebsiella pneumoniae, Acinetobactor baumannii, Pseudomonas aeruginosa และ methicillinresistant Staphylococcus aureus) ซึ่งมักดื้อยาต้านจุลชีพจำนวน 87,751 ครั้ง ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพอยู่โรงพยาบาลนานขึ้นกว่า 1.3 ล้านวัน มีผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเสียชีวิต 38,481 ราย ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับรักษาการติดเชื้อดื้อยามีมูลค่าประมาณ 1.75-5.16 พันล้านบาท และเมื่อรวมต้นทุนทางอ้อมจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรก็จะมีความสูญเสีย ทางเศรษฐกิจมากกว่า 67,345 ล้านบาท ผลกระทบดังกล่าวมีขนาดมากกว่าปัญหาสุขภาพหลายชนิดที่ถูกจัดให้มีความสำคัญลำดับต้นๆ ของประเทศไทย ดังนั้นการดื้อยาต้านจุลชีพจึงเป็นปัญหาสุขภาพที่มีความสำคัญเร่งด่วนและต้องการการควบคุมและป้องกันอย่างผสมผสานที่เป็นระบบในระดับชาติ