บทคัดย่อ
รายงานการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการทบทวนนิยาม ความหมาย รูปแบบ และแนวคิด ที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ เด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ หนึ่ง ทบทวนนิยาม มโนทัศน์ และแนวคิดทางสังคมที่อยู่เบื้องหลังข้อตกลงระหว่างประเทศและกฎหมายของต่างประเทศ และประเทศในภูมิภาคที่เกี่ยวกับการต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ เด็ก ผู้หญิง และ ผู้สูงอายุ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน สอง ศึกษาสถานการณ์ปัญหาการเลือกปฏิบัติในสังคมไทยรวมถึงกรณีการเลือกปฏิบัติในเชิงลึกในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย สาม ทบทวนและสังเคราะห์กฎหมายและข้อตกลงในปัจจุบันที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติในแต่ละกลุ่มเป้าหมายของประเทศไทยและในประเทศภูมิภาค ASEAN ที่มีการผลักดันการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ รวมถึงทบทวนกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติที่อยู่ระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติม และสี่ เปรียบเทียบประสิทธิผลของการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติในกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกาเหนือกับประเทศไทย หลังจากการทบทวนภาพรวมของประเด็นทางกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการขจัดการเลือกปฏิบัติฯ ต่อกลุ่มคนพิการ เด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุ โดยสังเขปแล้วสามารถจำแนกข้อค้นพบได้ดังต่อไปนี้ หนึ่ง การขจัดการเลือกปฏิบัติฯ ต่อทุกกลุ่มคนทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจและความสำคัญจากทั้งองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรระดับภูมิภาค และประเทศใน ยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชียบางส่วนที่ได้มีการผลักดันและขับเคลื่อนการขจัดการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สอง ประเด็นการขจัดการเลือกปฏิบัติฯ ในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ได้รับการระบุไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของแต่ละกลุ่มคนอย่างน้อยตั้งแต่พุทธทศวรรษ 2540 รวมถึงมีเป้าประสงค์และกรอบคิดที่สอดคล้องกับองค์กรระหว่างประเทศและต่างประเทศที่มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดีไม่ปรากฏว่ามีการหยิบยกการขจัดการเลือกปฏิบัติฯ เป็นประเด็นหลักของกฎหมายแต่อย่างใด สาม ปัญหาและอุปสรรคสำคัญของการขจัดการเลือกปฏิบัติในสังคมไทยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากพอ ทั้งนี้สาเหตุดังกล่าวมีพื้นฐานสำคัญมาจากการที่คนส่วนใหญ่และผู้บังคับใช้กฎหมายในสังคมไทยยังไม่มีความตระหนักเกี่ยวกับความเท่าเทียมและการขจัดการเลือกปฏิบัติมากเพียงพอ และสี่ ประเทศไทยยังขาดการบูรณาการประเด็นของการขจัดการเลือกปฏิบัติระหว่างกลุ่มคนต่างๆ และการผลักดันประเด็นการขจัดการเลือกปฏิบัติตามบทบัญญัติทางกฎหมายยังอยู่ในหน่วยงานของทางราชการเป็นสำคัญมิได้มีลักษณะของการผลักดันผ่านองค์กรอิสระเฉกเช่นในต่างประเทศ จากข้อค้นพบจากการทบทวนภาพรวมโดยสังเขปดังกล่าว ผู้วิจัยมีความเห็นเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและผลักดันการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อไปในอนาคตใน 3 ประการหลัก ดังนี้ ประการแรก ควรมีการผลักดันการสร้างทัศนคติในทางบวกและความตระหนักของสังคมต่อการขจัดการเลือกปฏิบัติ ประการที่สอง ควรมีการสร้างกลไกเพื่อบูรณาการประเด็นที่คาบเกี่ยวในแต่ละกลุ่มคน และประการที่สาม ควรมีการสนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการขจัดการเลือกปฏิบัติอย่างครอบคลุม