บทคัดย่อ
ประเทศไทยมีการใช้ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2552 เป็นพันธะสัญญาและแผนที่ร่วมกันของสังคมเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดระบบสุขภาพที่พึงประสงค์มาเป็นระยะเวลาพอสมควร แต่เนื่องจากระบบสุขภาพของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ทำให้หลักการ เป้าหมาย และมาตรการในหมวด 6 ของธรรมนูญฯ ซึ่งเน้นการใช้กลไกภาครัฐ สนับสนุน ส่งเสริม และควบคุมกำกับดูแลคุณภาพบริการสาธารณสุขอาจเป็นกลไกที่ไม่เหมาะสมหรือไม่เพียงพอสำหรับการสร้างระบบบริการสาธารณสุขที่พึงประสงค์ในสถานการณ์ปัจจุบัน รายงานการศึกษาฉบับนี้ เป็นการนำเสนอการทบทวนวรรณกรรมด้านระบบสุขภาพและการสังเคราะห์บทเรียนจากการทบทวนวรรณกรรมดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนสถานการณ์ของระบบบริการสาธารณสุขและการควบคุมคุณภาพในระยะเวลาประมาณ 5-10 ปีที่ผ่านมา โดยเน้นการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีการเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพของประเทศไทยซึ่งอาจส่งผลถึงระบบบริการสาธารณสุข และการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกลไกเพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับปัจจุบัน เพื่อชี้ให้เห็นถึงประเด็นด้านการควบคุมคุณภาพของระบบบริการสาธารณสุขที่ควรได้รับแก้ไขหรือเพิ่มเติม และสังเคราะห์เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อใช้ในการยกร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับต่อไปจากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า ปัจจัยและข้อจำกัดที่ทำให้ธรรมนูญฯ ฉบับปัจจุบันอาจเป็นกลไกที่ไม่เหมาะสมหรือไม่เพียงพอสำหรับการสร้างระบบบริการสาธารณสุขที่พึงประสงค์ในสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอก คือ การเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งได้แก่: 1) การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรและสังคม เช่น การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ อุบัติการณ์ของโรคที่เกิดจากวิถีชีวิตแบบคนเมืองเพิ่มมากขึ้น มีความต้องการบริการสุขภาพที่ตอบสนองต่อวิถีชีวิตคนเมืองมากขึ้น; 2) การเปลี่ยนแปลงของปัญหาสุขภาพ เช่น อุบัติการณ์ของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่มากขึ้น; 3) การเปลี่ยนแปลงด้านอุปทานของระบบบริการสาธารณสุข เช่น มีการขยายตัวของบริการสุขภาพในภาคเอกชนอย่างรวดเร็ว; 4) การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและแนวคิดทางการเมืองการปกครองไปเป็นสังคมของ “พลเมือง” ที่มีพลังและมีส่วนร่วมในระบบสุขภาพมากขึ้น ส่วนปัจจัยภายใน คือ ข้อจำกัดที่ธรรมนูญฯ ฉบับปัจจุบันอาจไม่สามารถใช้เป็นกลไกที่เหมาะสมหรือเพียงพอในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขที่พึงประสงค์ในสถานการณ์ปัจจุบัน ได้แก่: 1) ธรรมนูญฯ มี “หลักการ” บางอย่างที่ขัดแย้งกันเอง เช่น มีการกำหนดให้ระบบบริการสาธารณสุขต้องมีประสิทธิผล ประสิทธิภาพและราคาไม่แพง แต่บริการสาธารณสุขที่มีราคาไม่แพงอาจไม่มีประสิทธิผลหรือประสิทธิภาพก็ได้; 2) มีการตั้ง “เป้าหมาย” ที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับ แนวคิดเชิงระบบและมีหลายเป้าหมายซึ่งสามารถวัดการบรรลุผลได้ยาก เช่น ระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิได้รับการยอมรับ ชุมชนและท้องถิ่นสามารถสร้างเสริมสุขภาพและพึ่งตนเอง หรือระบบบริการสาธารณสุขที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ในทุกระดับ; และ 3) มี “มาตรการ” ที่มุ่งเน้นการใช้กลไกภาครัฐในการควบคุม กำกับ ดูแล คุณภาพบริการสาธารณสุข ซึ่งอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดบริการสาธารณสุขที่พึงประสงค์ในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างรวดเร็ว ข้อจำกัดดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขที่พึงประสงค์เพราะ: 1) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติอาจไม่สามารถนำหลักการและมาตรการในธรรมนูญฯ ไปจัดการกับปัญหาด้านคุณภาพของระบบบริการสาธารณสุขในปัจจุบันอย่างได้ผล เนื่องจากการกลไกการควบคุมคุณภาพบริการสาธารณสุขโดยภาครัฐอาจมีข้อจำกัด 2) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติอาจไม่สามารถหาหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จะวัดการบรรลุเป้าหมายในหมวด 6 ของธรรมนูญฯ ได้ หรือหากวัดได้ก็อาจไม่สามารถอธิบายคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของระบบบริการสาธารณสุขได้อย่างครบทุกมิติ หรืออาจเป็นการวัดที่ไม่ยืดหยุ่นเพียงพอสำหรับการวัดคุณภาพของการบริการสาธารณสุขแก่ทุกกลุ่มประชากร