บทคัดย่อ
ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติเป็นนวัตกรรมใหม่ในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพและสังคมไทย ที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 แม้ว่าการนำธรรมนูญสุขภาพฯ มาใช้ในฐานะของเจตจำนงและพันธะร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม จะช่วยเน้นย้ำถึงระบบสุขภาพที่พึงปรารถนา แต่การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพฯ ยังขาดความชัดเจนในทางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนหรือขาดความชัดเจนในทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งยังขาดการสื่อสารและกลไกการขับเคลื่อนที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ทำให้ประสิทธิผลในการเปลี่ยนแปลงสังคมจำกัดลงโดยปริยาย อย่างไรก็ดี การพัฒนาธรรมนูญสุขภาพฯ ระดับพื้นที่ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย และขยายตัวไปสู่พื้นที่อื่นๆ และบริบทอื่นๆ อย่างกว้างขวาง เพราะการพัฒนาธรรมนูญสุขภาพฯ ระดับพื้นที่สามารถเชื่อมโยงเป้าหมายของผู้คน ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนและวิถีชีวิตและวิธีคิดของผู้คนได้เป็นอย่างดี ทางเลือกในการพัฒนาธรรมนูญสุขภาพฯ จึงต้องเน้นการพัฒนาทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงให้ชัดเจน เช่น การครองความเป็นเจ้าทางอุดมการณ์ การพัฒนากระบวนการสังเคราะห์เพื่อหาทางออกร่วมกันในระหว่างผู้ที่มีชุดความคิดที่แตกต่างกัน และการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพฯ โดยเฉพาะการเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบอย่างมีความหมายของภาคส่วนต่างๆ ที่ยังมิได้มีบทบาทโดยตรงในคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นอกจากนี้ในทางปฏิบัติการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพฯ จำเป็นต้องถมช่องว่างในการขับเคลื่อนของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิผล และจะต้องพัฒนาระบบการสื่อสารที่มีพลัง และการขับเคลื่อนแบบสะท้อนย้อนคิดเพื่อให้ทุกภาคส่วนๆ ได้มีส่วนในการทบทวนความคืบหน้าและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบไปพร้อมๆ กัน