บทคัดย่อ
“Health Literacy” หมายถึง ความสามารถในการค้นหาหรือเข้าถึง สร้างความเข้าใจ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้านสุขภาพ ในประเทศไทยมีการแปลคำนี้ไว้ต่างกันไป เช่น “ความแตกฉานด้านสุขภาพ” หรือ “การรู้เท่าทันด้านสุขภาพ” หรือ “ความฉลาดทางสุขภาวะ” ดังนั้น ในความหมายที่ครอบคลุม Health Literacy จึงหมายถึง การที่บุคคลมีความสามารถในการเข้าถึงข่าวสารความรู้ด้านสุขภาพจากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย มีความเข้าใจในเนื้อหาต่างๆ สามารถประเมินความน่าเชื่อถือและความเหมาะสมของเนื้อหากับตนเอง ใช้ความคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลในการให้ความสำคัญกับข่าวสารความรู้นั้นๆ ตลอดจนนำไปสู่การตัดสินใจนำมาลองปฏิบัติและประเมินผลการทดลองจนสามารถเกิดการใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยในรายงานฉบับนี้จะใช้คำว่า “ความแตกฉานด้านสุขภาพ” วิจัยหลายชิ้น พบว่า ผู้ที่มีระดับระดับความแตกฉานด้านสุขภาพต่ำ มีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยจนต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล มีความสามารถในการป้องกันและดูแลสุขภาพน้อยกว่าผู้บุคคลที่มีระดับความแตกฉานด้านสุขภาพที่สูงกว่า ด้วยเหตุนี้ เครื่องมือประเมินความแตกฉานด้านสุขภาพจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบสุขภาพ เพราะช่วยให้เราทราบระดับความแตกฉานด้านสุขภาพของบุคคล กลุ่ม ชุมชน หรือประชากรที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญที่ใช้ประกอบการวินิจฉัยปัญหาด้านสุขภาพและการกำหนดแนวทางหรือวิธีการที่เป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือประเมินความแตกฉานด้านสุขภาพกันอย่างกว้างขวาง เพื่อนำผลมาใช้พัฒนาการให้บริการทางการแพทย์ (คลินิก) โปรแกรมป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ และนโยบายสุขภาพในการกำหนดนโยบายเร่งด่วน เป็นต้น สำหรับโครงการพัฒนาเครื่องมือประเมินความแตกฉานด้านสุขภาพได้ดำเนินการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพในกลุ่มตัวอย่างได้แก่ กลุ่มคน กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (ครอบคลุม ผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง) และกลุ่มคนพิการได้แก่ กลุ่มผู้พิการทางการเคลื่อนไหว กลุ่มผู้พิการด้านสายตา และกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน ในสี่จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ พิษณุโลก อุดรธานี ระยอง/ชลบุรี และนครศรีธรรมราช จากนั้น วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการจัดกลุ่มประโยคความเห็นของกลุ่มตัวอย่าง วิเคราะห์และสังเคราะห์ ประเด็นความเห็นและพัฒนาแบบสอบถามเบื้องต้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแบบสอบถามสำหรับเก็บข้อมูลเพื่อทำการวิเคราะห์ psychometric ต่อไป