บทคัดย่อ
รายงานนี้ได้ค้นพบสาระสำคัญดังนี้คือ 1. สถานการณ์การใช้บริการสุขภาพของผู้ป่วยกัมพูชาในโรงพยาบาลรัฐที่อยู่ชายแดนของประเทศไทย ผู้ป่วยชาวกัมพูชาที่ใช้บริการสุขภาพในโรงพยาบาลรัฐที่อยู่ชายแดนของประเทศไทย มีที่มาแบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ชาวกัมพูชาที่ข้ามพรมแดนมาใช้บริการสุขภาพ ชาวกัมพูชาที่ขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานต่างชาติทำงานในประเทศไทย ชาวกัมพูชาที่มีถิ่นที่อยู่ในพื้นที่บริเวณชายแดนในประเทศไทยอย่างถาวรแต่ ไม่ได้มีเลขประจำตัว 13 หลัก ชาวกัมพูชาที่เป็นแรงงานแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและ/หรือเป็นผู้ติดตามแรงงาน ต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย และชาวกัมพูชาที่เกิดและโตในประเทศไทยแต่ยังไม่ได้รับสิทธิ์เป็นคนไทย กลุ่มผู้ใช้บริการสุขภาพที่ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายในสถานการณ์การเงินการคลังของโรงพยาบาล ได้แก่ ชาวกัมพูชา ที่ขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานต่างชาติทำงานในประเทศไทยเนื่องจากมีหลักประกันสุขภาพเมื่อมาใช้บริการ นอกจากกลุ่มนี้แล้ว กลุ่มอื่นมีโอกาสสร้างภาระค่าใช้จ่ายในการใช้บริการได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะผู้ที่ใช้บริการ สุขภาพประเภทผู้ป่วยใน โรคที่เป็นสาเหตุของการใช้บริการสุขภาพเป็นลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มการคลอดและการตั้งครรภ์ ส่วนโรค อื่นๆ ที่ตามมา ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบทางเดินอาหาร และการบาดเจ็บ โดยเหตุผลหลักของการมาใช้บริการคือ ความสะดวกในการเข้าถึงบริการ ความมั่นใจต่อการให้บริการ และความรุนแรงของโรค ปัญหาภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ มักจะเกิดกับผู้ป่วยในที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ทำให้โรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลระดับอำเภอจะรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้มากกว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งไม่มีบริการผู้ป่วยใน ส่วนการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์การเงินการคลังของโรงพยาบาลในส่วนที่เกี่ยวข้องผู้ป่วยต่างชาติ จะเป็นการบริหารจัดการของแต่ละพื้นที่ ไม่มีรูปแบบที่แน่นอนแต่สิ่งที่คล้ายคลึงกันคือ จัดระบบการชำระเงินผู้ป่วยในของผู้ป่วยต่างชาติเป็นจ่ายทุกวันแทนการจ่ายครั้งเดียวเมื่อจำหน่ายกลับโรงพยาบาลหลายแห่งมีการปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์การเงินของโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการผู้ป่วยชาวกัมพูชารูปแบบทั่วไปที่พบคือ ขั้นตอนการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยใน รูปแบบพิเศษที่พบ 2 รูปแบบคือ รูปแบบแรกมีการประสานงานกับองค์กรเอกชนเพื่อจำแนกผู้รับผิดชอบแรงงานต่างชาติ ที่ไม่ขึ้นทะเบียนกรณีมีความเจ็บป่วย และรูปแบบที่สองมีการพัฒนาขั้นตอนการบริการและพัฒนาระบบประกันสุขภาพในรูปแบบเฉพาะพื้นที่ เพื่อสามารถให้บริการสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. ประเด็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศกัมพูชาโดยการสนับสนุนจากประเทศไทย ด้วยลักษณะบริบททั้งด้านสังคม วัฒนธรรม และระบบบริการสาธารณสุขที่มีความแตกต่างกันระหว่างไทยและกัมพูชา ทำให้ไม่สามารถพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขของกัมพูชาให้มีลักษณะหรือรูปแบบเหมือนหรือมากกว่าประเทศไทยได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่การช่วยเหลือทางด้านการบริการทางการแพทย์ โดยมีหลักการให้ประเทศกัมพูชาต้องพึ่งพิงประเทศไทยหรือต้องให้ประเทศไทยช่วยเหลือทุกอย่างเป็นเหตุผลที่ไม่สมควร เนื่องจากประเทศกัมพูชามีทรัพยากรที่สามารถพัฒนาศักยภาพให้ทัดเทียมหรือสูงกว่าประเทศไทยได้ในอนาคต ประกอบกับสถานการณ์การเงินการคลังของประเทศไทยมีข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถใช้รูปแบบให้ความช่วยเหลือเช่นนั้นได้ ดังนั้นทางออกของการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขของประเทศกัมพูชาคือ ช่วยสนับสนุนบริการหรือกิจกรรมบางอย่างที่ประเทศกัมพูชายังไม่พร้อมในขณะนี้ เช่น ระบบการสำรองเลือด การฝึกอบรมหรือพัฒนาบุคลากรเฉพาะทางการสนับสนุนกิจกรรมหรือบุคลากรเฉพาะทางเพื่อประสานความสัมพันธ์และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ รวมถึงช่วยผลักดันให้ประเทศกัมพูชาพัฒนาระบบการส่งต่อและรับกลับ เพื่อประสานการทำงานในการให้บริการสุขภาพอย่างต่อเนื่องกับประเทศไทย หรือประเทศเพื่อนบ้านอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงจะเป็นการช่วยพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขของประเทศกัมพูชาได้อย่างยั่งยืน 3. ประเด็นที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วนสำหรับระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทย ปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถวางแผนและจัดการการบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างเหมาะสมคือ การไม่รู้ขนาดของประชากรที่แท้จริง การจำแนกบุคคลโดยใช้ภาพถ่ายและชื่อ-สกุล ทำให้มีการซ้ำซ้อนของบุคคลได้โดยง่าย จึงควรพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถจำแนกบุคคลได้อย่างจำเพาะในการจัดเก็บข้อมูลคนต่างชาติ สำหรับปัญหาข้อมูลในระบบบริการสาธารณสุขเป็นผลสืบเนื่องมาจากการไม่สามารถจำแนกบุคคลของคนต่างชาติได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง คือทำให้การวางแผนด้านการควบคุมและป้องกันโรค การใช้ทรัพยากรด้านการแพทย์ไม่มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ ระบบการจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยต่างชาติในโรงพยาบาลบางแห่งที่ยังขาดความถูกต้องและการนำไปใช้งานอย่างเหมาะสม การกำหนดหัวข้อและรายละเอียดในการจัดเก็บข้อมูลของผู้ป่วยต่างชาติในแต่ละโรงพยาบาลมีความแตกต่างกัน ทำให้โรงพยาบาลบางแห่งไม่สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนการบริการสุขภาพสำหรับผู้ป่วยต่างชาติได้ทันที ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การดำเนินงานด้านบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยต่างชาติขาดความสมบูรณ์พร้อม คือการมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนต่างชาติหลายหน่วยงาน เช่น หน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง หน่วยงานด้านความมั่นคง หน่วยงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งหน่วยงานแต่ละด้านมีการทำงานที่ประสานเชื่อมโยงกันค่อนข้างน้อย 4. ประเด็นการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในชุมชนด้วยพนักงานสุขภาพชุมชนต่างด้าว (พสต.) การให้บริการสุขภาพในชุมชนด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วยพนักงานสุขภาพชุมชนต่างด้าว (พสต.) นั้น ความสำเร็จของการดำเนินงานในประเทศไทยขึ้นกับปัจจัยหลัก 3 ประการคือ ประการแรกในด้านการสนับสนุนให้มีบริการ ปัจจุบันการจัดบริการด้วยพสต. เป็นการดำเนินงานผ่านองค์กรที่มิใช่รัฐเนื่องจากระเบียบตามกฎหมายของรัฐไม่สามารถจัดจ้างหรือบรรจุบุคลากรที่เป็นคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในองค์กรของรัฐได้ ดังนั้นหากจะให้การจัดบริการด้วย พสต.ยังคงอยู่ องค์กรที่รับผิดชอบต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ประการที่สองด้านความพร้อมของบุคลากรเนื่องจากในบางพื้นที่สรรหาคนที่มีความสนใจทำงานเป็น พสต. มีความลำบากมาก เป็นเหตุให้ไม่มี พสต. ในพื้นที่นั้น อีกทั้งการจะปฏิบัติงานเป็น พสต .ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม หากพสต.ที่คัดเลือกเข้ามาปฏิบัติงานมีคุณสมบัติไม่ได้ตามที่ควรจะเป็น จะส่งผลให้พสต.ขาดแรงจูงใจที่จะปฏิบัติงานต่อไปในอนาคต ปัญหาในปัจจัยข้อนี้ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากเป็นปัจจัยส่วนบุคคลต้องอาศัยความสนใจและทัศนคติของผู้ที่จะเข้ามาเป็น พสต. ประการสุดท้ายคือ ความเหมาะสมในบริบทของพื้นที่ พื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการดำเนินงานของพสต.คือ มีการรวมกลุ่มของคนต่างด้าวอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน และเป็นการรวมกลุ่มที่อยู่ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลายาวนาน มีนายจ้างชัดเจน เช่น ชุมชนประมง ชุมชนคนงานในโรงงาน เป็นต้น ในขณะที่ชุมชนที่รวมกลุ่มในระยะเวลาสั้นๆ หรือรวมกลุ่มตามฤดูกาลจะดำเนินงานพสต. ได้ยากกว่า เช่น แรงงานสวนผลไม้ แรงงานที่เป็นลูกจ้างอิสระไม่มีนายจ้างชัดเจน การจัดการให้มีบริการสุขภาพด้วยพสต. จึงต้องพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ด้วย สำหรับการนำรูปแบบของพสต.ไปประยุกต์ใช้ประเทศกัมพูชาในลักษณะที่มีความคล้ายคลึงกับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) อาจมีความเป็นไปได้หากได้รับการสนับสนุนทรัพยากรจากองค์กรที่มิใช่ของรัฐ เพื่อสร้างแรงจูงใจอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ที่มาทำหน้าที่เช่นเดียวกับ อสม.ในประเทศไทยที่แม้จะได้ชื่อว่าเป็นอาสาสมัคร แต่ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้มีค่าตอบแทนและสวัสดิการสำหรับผู้ทำหน้าที่จากภาครัฐ