บทคัดย่อ
โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญโรคหนึ่งของประเทศไทย มีอัตราการเสียชีวิตเป็นลำดับที่ 3 ในปี 2550 และก่อให้เกิดความสูญเสียปีสุขภาวะ (Disability ADUSTED Life Year: DALYs) ที่สำคัญ และมีแนวโน้มการเกิดโรคเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งผู้ป่วยโรคเลือดเลือดสมองหากรอดชีวิต ส่วนใหญ่จะมีความพิการหลงเหลืออยู่ ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง ทั้งก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายต่อครอบครัว และภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยหลอดเลือดสมองจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที ประเทศไทยมีระบบบริการสุขภาพหลัก 3 ระบบ ได้แก่ ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งแต่ละระบบมีการออกแบบระบบที่ต่างกัน การจัดบริการสุขภาพให้กับผู้ป่วยจึงขึ้นอยู่กับสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยภายใต้หลักประกันสุขภาพที่ผู้ป่วยมีสิทธิ ซึ่งผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองก็เช่นกัน สิทธิประโยชน์ที่ผู้ป่วยได้รับในแต่ละระบบมีความแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงมีข้อสงสัยว่าการจัดและให้บริการที่ผู้ป่วยได้รับภายใต้สิทธิประโยชน์ที่ต่างกันของระบบหลักประกันสุขภาพหลัก จะส่งผลต่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพของผู้ป่วยและการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยหรือไม่ การศึกษานี้เป็นการศึกษาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ทำการศึกษาในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่มีศูนย์เชี่ยวชาญโรคหลอดเลือดสมองที่มีระบบ stroke fast track ที่มีประสิทธิภาพสูง และเป็นศูนย์กลางรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลในเครือข่ายโรคหลอดเลือดสมองที่อยู่บริเวณปริมณฑลกรุงเทพฯ ส่วนเหนือ โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ระหว่างเดือนสิงหาคม 2555 – มกราคม 2556 ผลการศึกษาทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพแสดงให้เห็นว่า ในระยะเฉียบพลัน (acute) ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ทุกสิทธิจะได้รับการรักษาตามแนวทางเวชปฏิบัติ ไม่พบความเลื่อมล้ำในการให้บริการหรือเลือกปฏิบัติที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โดยแพทย์มองว่าเป็นจริยธรรมทางการแพทย์ที่ต้องให้การดูแลผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระยะฟื้นฟู (Chronic) แพทย์จะเลือกวิธีในการดูแลรักษาโดยมีการพิจารณาสิทธิของผู้ป่วย เช่น การให้ยาลดความดันโลหิต การตรวจวินิจฉัยพิเศษ เพื่อหาสาเหตุการเกิดโรค เป็นต้น การไม่มาพบแพทย์ตามนัดนั้น ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ได้รับยา rt-PA และไม่ได้รับยา rt-PA เกิดจากพยาธิสภาพทางร่างกายทำให้ไม่สะดวกต่อการมาพบแพทย์ผู้ดูแลไม่สามารถพามารับบริการได้การที่ต้องมีหนังสือส่งตัวจากสถานพยาบาลหลัก ที่อยู่อาศัยอยู่ห่างจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมารับกายภาพบำบัดที่สถานพยาบาลหากครอบครัวหรือผู้ดูแลเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วยสามารถที่จะฟื้นฟูกลับมาสู่สภาพเดิมได้