บทคัดย่อ
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นภาระต่อเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญในระดับโลก ทั้งนี้เพราะกลุ่มโรคดังกล่าวบั่นทอนสุขภาพและศักยภาพในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่บุคคลและสังคมต้องเสียไปเพื่อประคับประคองกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจึงสูงกว่าโรคอื่นๆ ด้วยเหตุนี้การป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสียหายต่อสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม ด้วยเห็นความสำคัญของการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อแก่ประเทศสมาชิก โดยหนึ่งในแนวทางปฏิบัติดังกล่าวคือ การกำหนดกรอบลำดับความสำคัญงานวิจัยด้านการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Prioritized Research Agenda on NCDs) ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยใช้ข้อมูลสถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และความสำเร็จของมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่บูรณาการการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ แผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ ซึ่งเป็นแผนงานฯที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก จึงได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ช่องว่างงานวิจัยด้านการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทย โดยใช้กรอบลำดับความสาคัญงานวิจัยด้านการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อขององค์การอนามัยโลก เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในการตอบโจทย์การกำหนดทิศทางของงานวิจัยเพื่อการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อในอนาคต จากผลการศึกษาวิเคราะห์ ทำให้ได้เห็นนิมิตหมายที่ดีของงานวิจัยในประเทศไทยที่มีการวิจัยความชุก ปัจจัยทางสังคม การแปลงความรู้สู่นโยบาย และการสร้างศักยภาพในการดูแลตนเองของชุมชนเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเพิ่มขึ้น แม้จะมีสัดส่วนที่น้อยกว่างานวิจัยทางคลินิกก็ตาม ซึ่งหากการดำเนินการวิจัยกลุ่มนี้ และมีการนำข้อมูลที่ได้ไปใช้เพื่อลดช่องว่างในการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อมากขึ้น ภาระโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีต่อสุขภาพ และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทยย่อมลดลง